วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ท่าย์ = ท่ายาง มาจากไหนหนอ?

- โชคชะตากำหนดให้ไปอยู่นิวยอร์กมา 3 ปี สัญลักษณ์ที่จำได้แม่นของนิวยอร์กตอนไปอยู่คือ I Love NY. (Love แทนด้วยรูปหัวใจสีแดง NY มาจาก New York หรือนิวยอร์ก)
- เดาเอาว่าคนที่คิดสัญลักษณ์นี้ คงลอกมาจากต้นฉบับที่ไม่รู้ว่าใครคิดคือ คำว่า I Love You หรือ I Love U (Love แทนด้วยรูปหัวใจสีแดง)
- กลับมาอยู่ท่ายางเมื่อปี 54 คิดอยากจะให้รอบ ๆ บ้านช่วยกันพัฒนาให้สะอาดสวยงาม เลยคิดหาคำที่ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจต่อคนรอบบ้าน เลยเขียนไว้ข้างกำแพงบ้านว่า I Love TY. (Love แทนด้วยรูปหัวใจสีแดง และ TY มาจาก Ta Yang หรือท่ายาง)
- ชาวบ้านร้านตลาดผ่านมาส่วนใหญ่เห็นแล้วสงสัย ว่าอะไรนะตี่ ๆ (TY) ที่กำแพง เจอหน้ามักจะถามและได้รับคำตอบว่า หมายถึง ฉันรักท่ายางยังไงล่ะ (รักแล้วต้องทำยังไงต้องคิดเอา)
- คำว่าฉันฟังแล้วไม่ค่อยเท่ห์ เลยเปลี่ยนเป็น คนรักท่ายาง ซึ่งเมื่ออ่านแล้วไม่เตะตาคนเท่าไร เลย เปลี่ยนคำว่า คน เป็น ฅน (ใช้ ฅ คน แทน ค ควาย ตามหนังเรื่อง ฅนเหล็ก 2029 และความหมายเป็นกลุ่มคน มากกว่าคน ๆ เดียว และดีกว่า เรา เนื่องจากคำว่า เรา นั้นนิ่มไปหน่อย และคิดว่าไม่ควรใช้เพราะไม่ได้ไปถามคนอื่นซึ่งเขาอาจจะไม่คิดแบบนี้ก็ได้
- คำว่า รัก เติม ษ์ ต่อท้าย เป็น รักษ์ ตามกลุ่มอนุรักษ์ต่าง ๆ หรือพวกโลกสีเขียว ที่ค่อนข้างมีความหมายตรงมากกว่าคำว่ารัก ที่มักจากเป็นความรักระหว่างคนกับคน
- สรุปขั้นต้นออกมาเป็นคำว่า ฅนรักษ์ท่ายาง ซึ่งน่าจะยาวเกินไป เลยตัดคำว่ายางออกเป็น ฅนรักษ์ท่า ไปเขียนที่ไหนเขาบอกว่า คำว่าท่าที่อยู่ในชื่อนี้ ฟังดูแล้วมันทะแม่ง ๆ ขอกลับไปเป็นท่ายางได้ไหม และเห็นว่าคำว่าท่าใน อ.ท่ายาง อย่างเดียวมีเป็นสิบท่า เช่น ท่าพุ่ง ท่าลาว ท่าวาย ท่าเหว ท่าขาม ท่าโล้ ท่าคอย ท่าไม้รวก ท่ากระเทียม ท่าโรงหีบ ฯลฯ
- คำตอบคือไม่ได้ แต่ก็แก้ให้ตามคำเรียกร้องส่วนหนึ่งก็คือใช้แนวทางของคำว่ารักษ์ ที่มาจาก รักษา แต่ตัดสระอาออกแล้วเติมการันต์ที่ ษ ดังนั้น ท่ายางจึงตัดสระอา และ ง งู ออกแล้วเติม การันต์ที่ ย ยักษ์ เป็น เป็นคำใหม่คือ ฅนรักษ์ท่าย์
- มีคนเคยเสนอเล่น ๆ ให้ตลาดน้ำชื่อว่า ตลาดน้ำฅนรักษ์ท่าย์ เหมือนกัน เพราะชื่อนี้มาก่อนนับปีและจะทำให้ไม่สับสน แต่ก็เห็นว่า ชื่อดังกล่าว ยังไม่สื่อความหมายที่ต้องการ เท่ากับท่าย์น้ำข้ามภพ ดังนั้น เมื่อมีการตั้งชื่อ ท่าย์น้ำข้ามภพ จึงได้ยืมคำว่า ท่าย์ มาต้นกำเนิดความคิด ฅนรักษ์ท่าย์ นั่นเอง

วันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ประวัติความเป็นมาของชุมชนท่ายางจากความทรงจำของคุณยายเฉลียว

บอกเล่าโดยนางเฉลียว รังษีภาณุรัตน์ เรียบเรียงและค้นคว้าเพิ่มเติมโดย พ.อ.เบญจพล รังษีภาณุรัตน์
************************************
ข้อตกลงเบื้องต้น ข้อมูลต่อไปนี้ ส่วนใหญ่เป็นความทรงจำของนางเฉลียว รังษีภาณุรัตน์ซึ่งกำเนิดที่ท่ายาง และอยู่ท่ายางตลอดชีวิต ปัจจุบันอายุครบ 84 ปี เมื่อ 4 พ.ค.54 ซึ่งแม้ว่าจะเป็นบุคคลที่รับทราบการเปลี่ยนแปลงของท่ายางมาโดยตลอดไม่ขาดตอนเกือบ 80 ปีที่ผ่านมา และได้รับทราบข้อมูลบางส่วนจากบิดามารดา แต่ก็คงมีข้อด้อยอยู่บ้างในส่วนของข้อมูลของบุคคลอื่นมีไม่มาก และวันเวลาบางช่วงมีความคลาดเคลื่อนได้ ซึ่งหากท่านตรวจพบข้อผิดพลาด ไม่สมบูรณ์ หรือต้องการเพิ่มเติม ขอให้ส่งข้อมูลเป็นเอกสารที่ พ.อ.เบญจพล (โทร 086-0366-555) หรือ Email : benjapol5@msn.com เพื่อปรับปรุงให้ประวัติศาสตร์ท่ายางมีความถูกต้องสมบูรณ์และครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ข้อมูลนี้สามารถ Download ได้ที่  http://db.tt/1BHKlvp หรือ Facebook : ท่าย์น้ำข้ามภพ ซึ่งจะมีการ Update อยู่เสมอ
************************************
อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เป็นชุมชนที่มีอารยธรรมรุ่งเรืองและความเจริญมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองหลวงหรือประมาณปี พ.ศ.2100 โดยชุมชนแรก ๆ ที่ก่อตัวกันขึ้นมา คือบ้านท่าคอย (ปัจจุบันเป็นตำบลหนึ่งของท่ายาง) ซึ่งอุโบสถหลังเก่าของวัดท่าคอย ที่อยู่ในตำบลท่าคอย ว่ากันว่ามีอายุและความเก่าแก่มากกว่า 400 ปี โดยมีเรื่องเล่าว่าในสมัยที่ไทยรบกับพม่า ได้มีการเคลื่อนกองทัพจากทางภาคใต้มุ่งหน้าขึ้นไปทางเหนือ โดยระหว่างการเคลื่อนทัพ ได้มาหยุดสร้างค่ายพักค้างแรมเพื่อให้ทหารได้พักผ่อนคอยเวลาเคลื่อนย้ายต่อที่ริมแม่น้ำเพชรบุรี ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ ร่มเย็น บริเวณบ้านท่าคอย จึงได้ตั้งชื่อสถานที่แห่งนั้นว่า ท่าคอยมาตั้งแต่บัดนั้น และมีเกร็ดเล่าต่ออีกคือ หลังจากเคลื่อนย้ายผ่านท่าคอย หรือท่ายางไปแล้ว ก็ไปตั้งค่ายพักที่บริเวณใกล้เข้าย้อย  และเนื่องจากบริเวณดังกล่าวไม่มีแหล่งน้ำดื่มกิน กองทหารนั้นจึงได้ช่วยกันใช้หอกดาบแทนจอบเสียมขุดดินให้เป็นสระเพื่อกักเก็บน้ำขึ้นมา ซึ่งได้กลายเป็นสระน้ำบริเวณบ้านสระพัง อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรีในปัจจุบัน
สำหรับวัดท่าคอย แต่เดิมเคยมีพระปรางค์ 5 ยอดขนาดเล็ก คู่กับโบสถ์หลังเก่าซึ่งมีอายุเก่าแก่มากกว่าพระปรางค์วัดมหาธาตุ อ.เมือง จ.เพชรบุรี ต่อมาพระปรางค์ได้ชำรุดทรุดโทรมลงประกอบกับวัดมีความต้องการสร้างสิ่งปลูกสร้างอื่นและหาที่ไม่ได้ จึงได้รื้อถอนพระปรางค์ออกแล้วปลูกเป็นโรงทึมหรือศาลาสำหรับจัดงานศพแทนที่ในสมัยอาจารย์รวม เป็นเจ้าอาวาส ประมาณปี 2510 โดยผู้ที่ร่วมรื้อพระปรางค์ได้บอกว่าระหว่างการรื้อพระปรางค์ได้พบมีดดาบ และพวกเครื่องรางของขลังฝังอยู่ภายในพระปรางค์จำนวนหนึ่ง แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้มีการเก็บรวบรวมไว้
ท่ายางเดิมเป็นพื้นที่ต้นกำเนิดของแม่น้ำที่มีความศักดิ์สิทธิ์ คือ แม่น้ำเพชรบุรี (จริง ๆ น่าจะตั้งชื่อว่าแม่น้ำท่ายางตามพื้นที่ต้นกำเนิด) ซึ่งไหลจากเทือกเขาตะนาวศรีชายแดนไทย - พม่า ตำบลแก่งกระจาน (ปัจจุบันยกฐานะเป็นอำเภอ) ไหลผ่าน อ.ท่ายางไปยัง อ.บ้านลาด อ.เมือง และออกทะเลอ่าวไทยที่ อ.บ้านแหลม แม่น้ำดังกล่าวในสมัยก่อนถือว่าเป็นแม่น้ำที่สำคัญของประเทศไทย มีความใสสะอาดและรสชาติที่ดีมาก เหมาะสำหรับดื่มกินและใช้ทำการเกษตรของประชาชนทั่วไป และบางพิธีกรรมที่สำคัญของประเทศ เช่น พิธีถือน้ำพิพัฒสัตยา เจ้าพิธีกรรมต้องนำน้ำจากต้นน้ำแม่น้ำเพชรซึ่งอยู่ในอำเภอท่ายางไปใช้ประกอบพิธีด้วย ประโยชน์สำคัญอีกประการหนึ่งของแม่น้ำเพชรคือการใช้เป็นเส้นทางคมนาคมสัญจรในสมัยเริ่มแรกที่การคมนาคมทางถนนยังไม่เจริญมากนัก และเป็นเส้นทางการพาณิชย์ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างชาวไร่ ชาวสวนที่มีผลิตผลการเกษตร กับพ่อค้าแม่ค้าทั้งในและต่างพื้นที่ และว่ากันว่าเคยใช้เป็นเส้นทางสัญจรผ่านไปยังต้นน้ำของบุคคลสำคัญของประเทศไทยเมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมาอีกด้วย
พื้นที่ตำบลท่ายางประมาณปี 2400 แต่เดิมส่วนใหญ่เป็นป่าดงดิบ มีเพียงถนนดินเป็นทางเดินและทางเกวียน โดยมีชาวไทยและชาวจีนอาศัยอยู่ร่วมกันจำนวนหนึ่ง ต่อมาประมาณ ปี 2430 ชาวจีนโพ้นทะเลจากมณฑลซัวเถาและเกาะไหหลำ ได้อพยพเข้ามาตั้งรกรากในพื้นที่มากยิ่งขึ้น โดยมาตั้งชุมชนอยู่บริเวณทางด้านทิศตะวันออกของบ้านท่าคอย ติดริมแม่น้ำเพชรบุรีหรือ ถนนราษฎร์บำรุง ระหว่างศาลเจ้าพ่อและศาลเจ้าแม่ หมู่ 1 ตำบลท่ายาง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรีปัจจุบัน โดยคนจีนที่มาจากซัวเถามีความนับถือเทพเจ้ากวนอูจึงได้ร่วมกันก่อสร้างศาลเจ้าพ่อกวนอู และคนจีนที่มาจากเกาะไหหลำซึ่งนับถือเจ้าแม่ทับทิมได้สร้างศาลเจ้าแม่ทับทิมขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจและที่สักการะของคนในพื้นที่
บริเวณพื้นที่โดยทั่วไปของท่ายาง โดยเฉพาะพื้นที่ที่ติดบริเวณท่าน้ำจะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยต้นยาง (เรียกแบบคนท่ายาง) หรือต้นยางนาขนาดใหญ่จำนวนมาก โดยต้นใหญ่ที่สุดเป็นยางโทนอยู่บริเวณชายท่าน้ำ ด้านหน้าทางซ้ายของศาลเจ้าแม่ ซึ่งใช้เป็นที่ปีนป่ายเล่นบนรากที่เลยขึ้นมาจากพื้นดินของเด็ก และยังเป็นที่ปลดทุกข์ของชุมชนในสมัยนั้น  และว่ากันว่าหลังจากที่ต้นยางใหญ่หมดอายุไขลงและถูกตัดในเวลาต่อมาประมาณปี 2480 ตอของต้นยางดังกล่าวที่ยังมิได้ถูกถอนออกไป เด็ก ๆ ในสมัยนั้นจำนวนนับสิบคนสามารถขึ้นไปวิ่งเล่นบนตอต้นยางดังกล่าวได้
ด้วยข้อได้เปรียบของที่ตั้งท่ายางซึ่งมีความเหมาะสมในหลาย ๆ ด้าน ทำให้ท่ายางเป็นจุดศูนย์กลางทางการค้า และจุดแลกเปลี่ยนสินค้าสำคัญของเพชรบุรี โดยชาวบ้านที่ทำไร่ทำสวนจากพื้นที่เหนือน้ำของอำเภอท่ายาง เช่น แก่งกระจาน หนองเตียน เขาลูกช้าง หนองชุมแสง ท่าขาม จะล่องเรือนำผลิตผลการเกษตร มาขึ้นที่ท่าน้ำของท่ายางบริเวณระหว่างศาลเจ้าพ่อและศาลเจ้าแม่ เพื่อเจรจาซื้อขายกับพ่อค้าแม่ค้าที่นั่งเรือไอ หรือพายเรือมาจากบ้านลาด และเพชรบุรี รวมทั้งบ้านแหลมที่นำอาหารทะเลขึ้นมาขายกันที่ตลาดป้าบ่วย หรือพื้นที่อาคารพาณิชย์ด้านทิศเหนือของนัดล่างปัจจุบัน สำหรับชาวบ้านพื้นที่ใกล้เคียงอื่น ๆ ก็จะหาบของ กระเดียดกระจาด เข็นรถรุน (รถสาลี่) มาตั้งขายอยู่ทั่วไป ซึ่งจะมีความคึกคักเป็นพิเศษในวันอังคาร หรือวันนัดของนัดล่าง
ปี 2450 นางกิมไน้ กิมฮะหรือยายไน้ เกิดเมื่อ พ.ศ.2532 เป็นบุตรของนายจอก และนางจันทร์ ขณะนั้นอายุ 18 ปี ซึ่งกำพร้าบิดามารดามาตั้งแต่เล็ก บ้านเดิมของแม่อยู่ท่าคอย กับน้องชายและน้องสาว ได้ย้ายมาเช่าที่นางบ่วยปลูกบ้านที่บริเวณทางขึ้นลงท่าน้ำหน้าตลาดนางบ่วย หรือร้านเฉลียวพาณิชย์บนถนนราษฎร์บำรุงปัจจุบัน และได้แต่งงานกับนายเปรี้ยว แซ่ลี้ ซึ่งอพยพมาจากเมืองกิ๊กเอี๊ย มณฑลซัวเถา ประเทศจีน ช่วยกันเปิดร้านค้าขายของอุปโภค บริโภค  ขี้ไต้ น้ำมันจุดตะเกียงสำหรับเรือในแม่น้ำ และได้ให้กำเนิดบุตร ธิดา 4 คน ได้แก่ นางแสวง (พรรณพานิช) นางเฉลา (ยี่สาร) นางเฉลียว (รังษีภาณุรัตน์) และนายชลอ (รัตนหานนท์) โดยนางเฉลียว เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ 4 พ.ค.2470 โดยในยุคนั้น สังคมของคนแถวชุมชนศาลเจ้า ช่วงเย็นย่ำค่ำสนธยา นายเปรี้ยวและเพื่อนบ้านที่มาจากประเทศจีนด้วยกันก็จะหาความบันเทิงด้วยการสีซอร้องเพลงหรือสนทนากันอยู่หน้าบ้าน
ยายไน้ ในสมัยเด็กมีชีวิตที่ยากลำบาก กำพร้าพ่อแม่และต้องระหกระเหินเร่ร่อนไปขออาศัยญาติอยู่ เมื่อโตขึ้นยายไน้ประกอบอาชีพด้วยความอุตสาหะจนสามารถก่อร่างสร้างตัวได้จนมีฐานะดี และด้วยความเข้าใจในความลำบากของชีวิตคนจนอย่างลึกซึ้ง และมีความเชื่อมั่นศรัทธาในพระพุทธศาสนา ดังนั้น เมื่ออายุย่างเข้าสู่อายุวัยกลางคน ยายไน้จึงได้นำทรัพย์เงินทองที่หามาได้เกือบทั้งหมดอุทิศให้แก่พระพุทธศาสนาและช่วยเหลือคนยากคนจน ด้วยการ ทำบุญ สร้างวัด และบวชพระ เณรให้แก่ลูกหลานของคนท่ายางและคนนอกพื้นที่ที่ขาดทุนทรัพย์จำนวนหลายสิบองค์ โดยเก็บเงินไว้จำนวนหนึ่งเพียงแค่พอสำหรับซื้อโลงและจัดงานศพของตนเอง สำหรับบุตรของนางไน้นั้น ยายไน้ได้อบรมสั่งสอนและมอบวิชาความรู้ให้ทำมาหากินเลี้ยงชีพโดยสุจริตด้วยความสามารถและอุตสาหะของตนเอง ยายไน้ได้ทำบุญอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาและได้ถึงแก่กรรมอย่างสงบเมื่อ พ.ศ.2516
พ.ศ.2460 ท่ายางได้เจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น ทางการจึงได้ย้าย อำเภอยางหย่อง ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านท่าแลง ยางหย่อง ซึ่งอยู่เหนือน้ำของอำเภอท่ายางขึ้นไปประมาณ 3 กม. มาตั้งยังใหม่ ที่หมู่ 1 บ้านท่ายาง แต่ยังใช้ชื่อว่าอำเภอยางหย่อง
28 ม.ค.2477 นางยี หรือ สงวน ระวีแสง ภรรยา พลฯ ชม ระวีแสง ตำรวจชั้นประทวน สาวตลาดท่ายาง ให้กำเนิดลูกน้อยชื่อ บุญทิ้ง ในช่วงอายุ 1 ขวบ ได้พักอาศัยอยู่ที่ห้องแถวบริเวณใกล้กับศาลเจ้าพ่อกวนอู เมื่อ ด.ช.บุญทิ้ง ได้เจริญเติบโตขึ้นได้ย้ายไปอยู่ที่วัดท่ากระเทียม และต่อมาได้รับราชการเป็นทหาร และเปลี่ยนชื่อเป็น พันจ่าอากาศโทพิเชษฐ์ พุ่มเหม และได้เข้าสู่วงการบันเทิงในนามของพระเอกยอดนิยมแห่งยุค ปี 2500 ชื่อ มิตร ชัยบัญชา
พ.ศ. 2480 ท่ายางได้มีสถานบริการสาธารณสุขแห่งแรก เรียกว่า " สุขศาลาชั้น 2 " มีเจ้าหน้าที่ปฎิบัติงาน 3 คน ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2500 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น " สถานีอนามัยชั้น 2" เป็นอนามัยอำเภอ พยาบาลอนามัยและผดุงครรภ์ ต่อมาได้ยกฐานะเป็น " สถานีอนามัยชั้น 1 " มีที่ทำการอยู่บริเวณถนนเพชรเกษม ริมคลองชลประทานสาย 3 นายแพทย์ไมตรี ประภัสศิริพันธ์ เป็นผู้อำนวยการ พ.ศ.2510-2523 ในปี พ.ศ. 2515 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น " ศูนย์การแพทย์และอนามัย " แล้วเปลี่ยนเป็น " โรงพยาบาลท่ายาง " ขนาด 10 เตียงเมื่อปี พ.ศ. 2520 แต่ยังคงตั้งอยู่ที่เดิม ในปี พ.ศ. 2521 ชาวอำเภอท่ายางได้พร้อมใจกันบริจาคที่ดิน และเงินเพื่อเป็นค่าจัดซื้อที่ดินเพิ่มเติมตลอดจนได้รับงบประมาณในการก่อสร้าง และยกฐานะเป็นโรงพยาบาล 30 เตียง และได้ย้ายสถานที่ก่อสร้างมา ณ อยู่ริมถนนสายท่ายาง-บ้านหนองบ้วย เนื้อที่ 28 ไร่ 89 ตารางวา โดยทำพิธีเปิดเป็นทางการเมื่อ 16 ก.พ.2523 ฯพณฯ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ นายกรัฐมนตรีให้เกียรติมาเป็นประธาน
17 เม.ย.2482 ทางการได้เปลี่ยนชื่ออำเภอยางหย่อง เป็นอำเภอท่ายาง เพื่อประโยชน์และสะดวกแก่ประชาชนและราชการ กับเพื่อรักษาไว้ซึ่งประวัติศาสตร์แห่งท้องถิ่น ในเวลานั้น นางเฉลียว เรียนหนังสือ ป.1 ถึง ป.4 ที่โรงเรียนบ้านท่าคอย แล้วออกจากโรงเรียน ระหว่างการเรียนและหลังจากออกมาแล้ว นางเฉลียวได้คิดทำมาหากินและประกอบอาชีพช่วยพ่อแม่หลายอย่าง เช่น ซื้ออ้อยมาทำอ้อยควั่น ซื้อถ่านหุงข้าวแบบยกกระสอบแล้วมาแบ่งขาย ขายขนมครก และรับจ้างทั่วไปทุกชนิดที่มีคนจ้าง จนสามารถเก็บเงินซื้อทองราคาบาทละ 400 บาท ได้หลายบาท
                พ.ศ. 2484 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพลูกพระอาทิตย์ ญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกในพื้นที่ประจวบคีรีขันธ์ และส่งหน่วยลาดตระเวนมาทางรถไฟ ลงที่หนองจอก ทำการสำรวจพื้นที่โดยรอบเพื่อพิจารณาหาเส้นทางเคลื่อนกองทัพบุกเข้าไปประเทศพม่าและอินเดีย แล้วเล็งเห็นว่าท่ายางเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ และเป็นปมคมนาคมไม่ว่าจะเป็นการเดินทางด้วยรถไฟ ทางแม่น้ำ(เพชรบุรี) และทางถนนเป็นอย่างดี อีกทั้งอยู่ไม่ไกลจากฝั่งทะเลมากนัก จึงได้ใช้พื้นที่บริเวณถนนสาย 19 หรือถนนเพชรเกษมปัจจุบันบริเวณปากทางเข้าหนองจอกสร้างค่ายพักและตำบลรวบรวมเชลยศึกซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวออสเตรเลียเพื่อนำแรงงานไปสร้างทางรถไฟสายมรณะที่กาญจนบุรี และได้เล็งเห็นว่าท่ายางควรมีการคมนาคมทางอากาศด้วย ทหารญี่ปุ่นจึงได้ก่อสร้างสนามบินบริเวณบ้านหนองบ้วย ซึ่งเดิมเป็นป่ารกทึบทางทิศใต้ของอำเภอท่ายาง และเมื่อญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงครามโลกแก่ฝ่ายสัมพันธมิตรเมื่อ 15 ส.ค.2488 สนามบินดังกล่าวได้ถูกโอนให้กองทัพอากาศรับผิดชอบ แต่มิได้มีการใช้งานหรือปรับปรุงเพิ่มเติม สนามบินจึงกลายเป็นที่รกร้างว่างเปล่า ปัจจุบันพื้นที่สนามบินได้ถูกปรับเปลี่ยนเป็นตลาดกลางสหกรณ์การเกษตรและสนามกีฬาของตำบลท่ายาง ในช่วงเวลาที่กองทัพญี่ปุ่นอยู่ท่ายาง ทหารญี่ปุ่นมักจะขับรถมาจอดบริเวณหน้าอำเภอแล้วลงมาจับจ่ายใช้สอยซื้อข้าวของที่ตลาดท่ายางอยู่บ้าง
พ.ศ.2493 ถนนเพชรเกษมเปิดใช้งานเต็มรูปแบบ ชุมชนท่ายางเริ่มเคลื่อนย้ายไปอยู่ถนนสายหลัก ซอย 1 และ ซอย 2 เริ่มมีการก่อสร้างอาคารไม้ทำการค้าขาย และก่อสร้างตลาดนัดป้าหวาน สำหรับศาลาตาเปี่ยมซึ่งเคยเป็นที่เรียนหนังสือของเด็ก ๆ บริเวณธนาคารออมสินปัจจุบันถูกรื้อถอน
พ.ศ.2494 นายพลและนายพิน ยี่สาร 2 พี่น้อง ได้มาปรึกษากับนายเปรี้ยว แซ่ลี้ ซึ่งเป็นผู้จัดการป่าช้าท่ายาง เพื่อจะขอใช้พื้นที่บริเวณป่าช้าสร้างโรงเรียน ต่อมานายเปรี้ยวได้ปรึกษากับผู้เกี่ยวข้องและมีมติเห็นชอบให้ทำการล้างป่าช้า และพัฒนาพื้นที่ร่วมกับประชาชนท่ายางก่อสร้างเป็นโรงเรียนบ้านท่ายางประชาสรรค์ และพื้นที่อาคารพาณิชย์ที่อยู่ริมถนนใหญ่ในปัจจุบัน โดยมีหัวเรือใหญ่ในการล้างป่าช้าคือนายกล่ำ สัปเหร่อท่ายาง ซึ่งเป็นบิดาของหลวงพ่อจ่าง อดีตเจ้าอาวาสวัดโค้งข่อย และเมื่อโรงเรียนท่ายางประชาสรรค์สร้างเสร็จในปี 2501 เด็ก ๆ ในชุมชน จึงได้ย้ายที่เรียนจากโรงเรียนท่าคอยมาอยู่ที่โรงเรียนบ้านท่ายางประชาสรรค์ เส้นทางคนเดินและป่ากล้วยได้ขยายเป็นถนนใหญ่เส้นหลักเชื่อมต่อถนนเพชรเกษมที่สามแยกท่ายาง คู่ขนานกับถนนริมน้ำหรือถนนราษฎร์บำรุง โดยต้นโพธิ์ใหญ่ยังคงอยู่กลางถนนใหญ่ที่ตัดใหม่บริเวณหน้าทางแยกซอยหมอไมตรี
พ.ศ.2495 เกิดไฟไหม้ใหญ่ตลาดท่ายาง บ้านเรือนทั้งหมดริมแม่น้ำถูกเพลิงเผาผลาญหมดและไฟดับไปเองเนื่องจากหมดเชื้อเพลิงโดยมาหยุดอยู่ที่บ้านยายไน้เป็นหลังสุดท้าย ประชาชนที่ถูกไฟไหม้บ้านต้องขนย้ายสิ่งของที่พอหยิบฉวยได้มากองรวมกันไว้ที่ท่าน้ำ โดยนางสาวเฉลียว ขนตู้และทรัพย์สินที่ใช้ทำมาหากินหนีไฟมาได้บางส่วน ต่อมาได้พยายามหาเงินทุนปลูกบ้านแทนบ้านเดิมเท่าที่จะทำได้ เช่น การรับจ้างล้างไม้ฝาบ้าน เพื่อจะได้ฝาบ้านเหลือ ๆ เป็นค่าจ้าง และเมื่อได้เงินพอจึงปลูกอาคารไม้พาณิชย์จำนวน 3 ห้อง บริเวณหัวมุมทางลงท่าน้ำ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยเดิมที่ถูกไฟไหม้โดยที่ดินที่ปลูกบ้านยังคงเช่าที่ของป้าบ่วยอยู่ ต่อมาป้าบ่วยประกาศขายที่บริเวณติดนัดล่างซึ่งถูกไฟไหม้ทั้งแถบ นางสาวเฉลียวที่เช่าที่ปลูกบ้านอยู่ จึงรวบรวมเงินจำนวน 30,000 บาท ซื้อที่ดินดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง
แม่น้ำเพชรบุรีก่อนการสร้างเขื่อนแก่งกระจานในปี 2506 เป็นแม่น้ำขนาดใหญ่มีเรือไอบรรทุกคนได้ลำละประมาณ 20-30 คนวิ่งไปมาสัญจรถึงอำเภอเมืองและอำเภอบ้านแหลมได้ ในหน้าฝนจะมีน้ำหลากจำนวนมากติดต่อกันปีละกว่า 6 เดือน จึงกลายเป็นเส้นทางสัญจรที่สำคัญของคนเพชรบุรีและคนจากพื้นที่อื่น รวมทั้งผู้อพยพมาจากประเทศจีน ในหน้าแล้งน้ำจะลดลงทำให้หลายพื้นที่คนสามารถเดินข้ามได้ และเลียบชายฝั่งจะมีเส้นทางเดิน ซึ่งเป็นเส้นทางสำหรับผู้คนที่ต้องการเดินทางไปเพชรบุรีโดยเฉพาะการไปเที่ยวงานหน้าเขา จะใช้การเดินเท้าตามเส้นทางริมแม่น้ำช่วงเย็น ๆ โดยเดินร้องเพลงกันไป จนถึงเพชรบุรีตอนค่ำ ๆ รถยนต์โดยสารในสมัยนั้นที่วิ่งระหว่างเพชรบุรีกับท่ายางมีคันเดียวเรียกว่ารถถ่าน ซึ่งเป็นรถที่ลงหุ้นกันของชาวบ้าน โดยจ้างตาผินคนเพชรบุรีเป็นคนขับ
พื้นท้องน้ำของแม่น้ำเพชรบุรีจะเป็นหาดทรายที่สะสมกันมานับล้านปี ปัจจุบันหาดทรายในช่วงตั้งแต่เขื่อนเพชรลงมาได้หายไปเป็นส่วนมาก เนื่องจากเมื่อประมาณปี พ.ศ.2535 และ พ.ศ.2549 ได้มีโครงการขุดลอกแม่น้ำ เรือที่มาขุดลอกได้นำทรายจากท้องน้ำไปเกือบทั้งหมด จึงทำให้ปัจจุบันท้องแม่น้ำเป็นโคลนเลนเสียส่วนใหญ่ และหลังจากที่มีการขุดคลองชลประทานครบตามโครงการ การบริหารน้ำของแม่น้ำเพชรช่วงหลังเขื่อนเพชรมุ่งหมายการใช้น้ำเกิดประโยชน์สูงสุด จึงมีการผันน้ำไปใช้ในการทำการเกษตรของประชาชน และส่งน้ำไปให้อำเภอทางด้านใต้ที่ไม่มีแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ใช้ในการอุปโภคบริโภค ทำให้แม่น้ำเพชรบุรีที่เคยอุดมสมบูรณ์และมีน้ำจำนวนมากต้องแห้งเหือดลงประมาณปีละกว่า 10 เดือน
30 พ.ค.2499 ตำบลท่ายางได้รับการตั้งเป็นสุขาภิบาลท่ายาง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี
2 พ.ค. 2501 โรงเรียนบ้านท่ายาง (ประชาสรรค์) ก่อตั้งโดยรัฐร่วมกับชุมชนชาวท่ายาง เปิดสอนครั้งแรก มีนักเรียน 460 คน ครู 9 คน มี น.ส.พาณี ยี่สาร เป็นครูใหญ่ ตั้งอยู่ ม. 1 ต.ท่ายาง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี การจัดการศึกษาตามระบบของกระทรวงศึกษาธิการ จนถึง พ.ศ. 2509 ได้เปลี่ยนสังกัดไปอยู่ อบจ.เพชรบุรี จนถึง พ.ศ. 2520 ได้ยุบโรงเรียนท่ายางซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมตอนต้นที่อยู่ในบริเวณเดียวกันมารวมกันใช้ชื่อว่า "โรงเรียนบ้านท่ายาง(ประชาสรรค์)" ในปีพ.ศ.2523โอนไปสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ(สปช.) เปิดสอนชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2545 เป็นโรงเรียนเครือข่ายการใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน และนำร่องการจัดการศึกษาภาคบังคับ เปิดทำการสอนตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนต้น การจัดการศึกษาได้พัฒนามาเป็นลำดับ  พ.ศ.2547โอนการจัดการศึกษามาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
พ.ศ.2501 นางสาวเฉลียวแต่งงานกับนายสาลี่ รังษีภาณุรัตน์ เกิดเมื่อ 10 ต.ค.2470 เป็นบุตรคนโตของนายคุ้ย และนางเหมือน แซ่ปึง บ้านเดิมอยู่บ้านสระพัง อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี หลังจากแต่งงานแล้วทั้งคู่ได้ลงหลักปักฐานที่ท่ายาง และมีบุตร ธิดา 4 คน ได้แก่ น.ส.วัชรินทร์ พ.อ.เบญจพล นางเนาวรัตน์ และ น.อ.พิสิฐ ครอบครัวได้ประกอบอาชีพหลายอย่างที่สุจริต เช่น การทำไร่ที่หนองชุมแสง ขายของเร่ตามงานหน้าเขาและตลาดนัดทั่วไป ค้าข้าวเปลือก รวมทั้งขยายกิจการค้าที่อยู่ที่บ้าน และด้วยความมานะบากบั่น หนักเอาเบาสู้และเป็นกันเองกับทุกคน ประกอบกับชอบช่วยเหลือเจือจุน ทำบุญ และทำงานอยู่เบื้องหลังของสังคม จึงทำให้นายสาลี่และนางเฉลียวมีฐานะมั่นคงและเป็นที่รู้จักมักคุ้นต่อคนทั่วไปในอำเภอ
4 มิ.ย. 2502 โรงเรียนท่ายางวิทยา ได้รับอนุมัติให้ทำการสอนระดับชั้น ม.ศ.1 (ม.4 ปัจจุบัน) โดยโรงเรียนตั้งอยู่ที่ดินสาธารณะทางด้านทิศตะวันตกของที่ว่าการอำเภอท่ายาง มีเนื้อที่ 10 ไร่ 2 งาน มีนักเรียน 23 คน ครู 2 คน มีนักการภารโรง 1 คน นายวีระ สร้อยระย้า เป็นครูใหญ่
23 ส.ค.2509 สหกรณ์การเกษตรท่ายาง จำกัด จดทะเบียนเป็นสหกรณ์ครั้งแรก โดยใช้ชื่อว่า สหกรณ์ท่ายาง จำกัดสินใช้ ประเภทสหกรณ์เครดิตเพื่อผลิตกรรม” และได้เริ่มดำเนินงาน เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2509 ต่อมาได้รับการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็น สหกรณ์การเกษตรท่ายาง จำกัดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2512 ต่อมารัฐบาล ได้มีนโยบายควบ สหกรณ์ที่ดินบ้านหนองเตียน จำกัดรวมกับ สหกรณ์การเกษตรท่ายาง จำกัดเข้าเป็นสหกรณ์เดียวกัน ประเภท สหกรณ์การเกษตร และใช้ชื่อว่า สหกรณ์การเกษตรท่ายาง จำกัดเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2517
ในช่วงปี 2510 การสูบน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรี มาบรรจุปี๊บใส่รถรุนขายของบ้านโกจู๋ตรงข้ามศาลเจ้าพ่อยังเป็นกิจการที่พอทำเงินได้แต่หลังจากความเจริญด้านต่าง ๆ และความสะดวกสบายจากการใช้ระบบน้ำประปาเข้ามาแทนที่ในการใช้น้ำอุปโภค บริโภค แม่น้ำเพชรบุรีของคนท่ายางจึงด้อยค่าคง และเศรษฐกิจที่เติบโตมากขึ้น ประกอบกับเส้นทางถนนที่กว้างขวางและรวดเร็วในการเดินทางได้มาแทนที่เส้นทางสัญจรและการค้าของแม่น้ำเพชรบุรี ทำให้บริเวณท่าน้ำของท่ายางที่เคยคึกคักกลับกลายเป็นแหล่งเสื่อมโทรมและที่ทิ้งสิ่งปฏิกูล ซึ่งไม่ค่อยมีใครมาเหลียวแลตั้งแต่ปี 2520
พ.ศ.2511 ท่ายางเริ่มมีโทรทัศน์ขาวดำ โดยบ้านแรก ๆ ของท่ายางที่มีโทรทัศน์ ได้แก่ บ้านเจ๊นที และเจ๊แหม่ม ซอย 2 บ้านเจ๊น้อยบริเวณสุดซอย 2 และบ้านหมอแขกเยื้องศาลเจ้าพ่อ สถานีโทรทัศน์ยุคนั้นมี 2 ช่อง คือ ช่อง 4 และ ช่อง 7 (ช่อง 9 และ ช่อง 5 ปัจจุบัน) โดยมีหนังชุดที่เด็ก ๆ ชอบดู มักเป็นหนังญี่ปุ่นเสียส่วนใหญ่ เช่น เจ้าหนูไดโนเสาร์ ยูโดสายดำ และหน้ากากเสือ รถที่ใช้กันทั่วไปเป็นรถจักรยาน สำหรับรถยนต์ส่วนตัวของคนท่ายางที่เคยมี 2 คันเป็นยี่ห้อ แลนด์ โรเวอร์ ของ โกพล และโกพิน  เริ่มมีรถปิคอัพและรถเครื่องหรือรถมอเตอร์ไซค์มากขึ้น ราคาอาหารในขณะนั้น ข้าวแช่ถ้วยละ 1 สลึง กล้วยทอดห้าชิ้นสลึง โอเลี้ยงถ้วยละ 3 สลึง น้ำอัดลมขวดละ 1 บาท ก๋วยเตี๋ยวทั่วไปชามละ 6 สลึง ปาท่องโก๋คู่ละ 1 สลึง เด็กนักเรียนมักได้เงินไปโรงเรียนคนละ 2 สลึงต่อวัน และเป็นปีที่โรงเรียนเริ่มเปลี่ยนจากการใช้กระดานชนวนมาเป็นสมุด ครูประจำโรงเรียนท่ายางประชาสรรค์ในห้วงเวลานั้นที่สำคัญ ได้แก่ ครูพาณี ยี่สาร ครูสุภางค์ คชานันท์ ครูมานิตย์ ศรีสุวรรณ ครูบุญส่ง เชยชุ่ม ครูบุญยิ่ง โหหุตะ และครูผล ภานุมาต
พ.ศ.2513 วงดนตรีศิษย์สุรพลมาเปิดทำการแสดงที่ อ.ท่ายาง มีแฟนเพลงผู้หญิงท่านหนึ่งมาปรารภกับผู้แต่งเพลงสาวท่ายาง คือ คุณพนมไพร ลูกเพชร ว่าเห็นมีแต่เพลงสาวอื่นๆ มาหลายสาวแล้ว ไม่เห็นมีเพลงที่เกี่ยวกับสาวท่ายางเลย คุณพนมไพรจึงแต่งเพลง สาวท่ายาง ขึ้นมาตามคำแนะนำและเรียกร้องของแฟนเพลงท่านดังกล่าวและให้คุณละอองดาวเป็นผู้ร้องบันทึกเสียง ประกอบกับตอนนั้น เพื่อนคุณพนมไพรท่านหนึ่งกำลังหลงสาวที่ อ.ท่ายางอยู่ด้วย และคุณพนมไพรเองก็มาแต่งเพลงแก้ในเพลงไม่ลืมท่ายาง และบันทึกเสียงเพลงนี้เอง
พ.ศ.2514 ด.ญ.วัชรินทร์ รังษีภาณุรัตน์ สอบได้เป็นลำดับที่  1 ของชั้นประถมศึกษาปีที่  4 ของโรงเรียนระดับประถมศึกษาทั้งหมดในอำเภอท่ายาง
ความบันเทิงของคนท่ายางในยุคนี้ ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยเสียเงินหรือเสียก็เสียไม่มาก เช่น วิกหรือโรงภาพยนตร์เกษมสุข ที่นัดบน และเฉลิมชาติหรือวิกตาชาติที่ถนนใหญ่ ค่าดูหนังแต่ละเรื่องเด็ก 1 บาท ผู้ใหญ่ 2 บาท เด็ก ๆ ที่ไม่มีเงินซื้อตั๋วดูหนังแต่อยากดู ก็จะไปคอยยืนอยู่ที่ปากประตูแล้วรอให้ผู้ใหญ่พาเข้าไปในลักษณะการแถม และในแต่ละเทศกาลก็จะมีหนังกลางแปลง และงิ้วเล่นที่หน้าศาลเจ้าพ่อและศาลเจ้าแม่อยู่เป็นประจำ ซึ่งจะมีคนไปเที่ยวดูจำนวนมาก ร้านค้าร้านขายที่ไปตั้งก็จะขายของได้ดี ส่วนกลางวันสำหรับความบันเทิงอย่างอื่นของเด็ก ก็จะมีการเล่นน้ำในแม่น้ำ การเล่นหมากเก็บ หมากเม็ดลอ กระเท็กจับ (กระต่ายขาเดียว) การไปเล่นบันไดลื่นและชิงช้าที่หน้าอำเภอเก่า และในวันนัดก็มาดูคนขายยาเล่นกลและโชว์งูเห่า(จะ)กัดกับพังพอนที่นัดล่าง
พฤษภาคม 2518 ด.ช.เบญจพล รังษีภาณุรัตน์ เป็นนักเรียนพรหมานุสรณ์จังหวัดเพชรบุรี ชั้น ม.ศ.1 โดยสอบแข่งขันเข้าได้เป็นลำดับที่ 2
พ.ศ.2519 ด.ญ.เนาวรัตน์ รังษีภาณุรัตน์ สอบได้เป็นลำดับที่  1 ของชั้นประถมศึกษาปีที่  4 ของโรงเรียนระดับประถมศึกษาทั้งหมดในอำเภอท่ายาง
7 พ.ค.21 นายเบญจพล รังษีภาณุรัตน์ เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 21 โดยสอบเข้าได้เป็นลำดับที่ 6 จากผู้สมัครประมาณ 13,000 นาย
5 ก.พ.25 จัดตั้งสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนรวมน้ำใจท่ายาง จำกัด โดยผู้นำเครดิตยูเนี่ยนได้แก่ อาจารย์ถนิม นิลกลัด ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่ายาง (ประชาสรรค์) ผ.ศ.สุวิทย์ เปียผ่อง คณะบดีคณะวิทยาการจัดการวิทยาลัยครูเพชรบุรี อาจารย์ ชำนาญ อิ่มสะอาด อาจารย์วิทยาลัยครูเพชรบุรี และผู้ร่วมอุดมการณ์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนอีกจำนวนหนึ่ง จุดมุ่งหมายของคณะผู้ก่อตั้งเหล่านี้ต้องการนำเสนอองค์กรการเงินที่สมาชิกเป็นเจ้าของเป็นผู้บริการจัดการด้วยพวกเขาเอง จากการศึกษาหลักการของเครดิตยูเนี่ยนของคณะผู้ก่อตั้งและสภาพเศรษฐกิจสังคมของคนท่ายางในขณะนั้น จึงได้ก่อให้เกิดกลุ่มสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนใหม่ในชุมชนท่ายาง ใช้ชื่อว่า รวมน้ำใจท่ายาง” และได้จดทะเบียนเป็นสหกรณ์ที่ถูกต้องสมบรูณ์ใน 1 มี.ค.28 ใช้ชื่อว่า สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนรวมน้ำใจท่ายาง จำกัด
7 พ.ค.27 นายพิสิฐ รังษีภาณุรัตน์ สอบเข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 27 เหล่าทหารเรือ
1 ม.ค.2531 ตำบลแก่งกระจาน ได้แยกออกจากอำเภอมท่ายาง โดยได้รับการยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอ ประกอบด้วย พื้นที่ 3 ตำบล คือ ตำบลแก่งกระจาน ตำบลสองพี่น้อง และตำบลวังจันทร์ ต่อมามีการจัดตั้งตำบลในเขตกิ่งอำเภอแก่งกระจานเพิ่มขึ้นอีก 3 ตำบล
22 มี.ค.35 นายธานี ยี่สาร พรรคสามัคคีธรรม ได้รับเลือกให้เป็นผู้แทนราษฎร จังหวัดเพชรบุรี
พ.ย.35 พ.ต.เบญจพล รังษีภาณุรัตน์ ได้รับแต่งตั้งจาก กองทัพภาคที่ 1 ให้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับค่ายฝึกรบพิเศษแก่งกระจาน จนถึง 30 ก.ย.37 ระหว่างดำรงตำแหน่งได้จัดตั้งชมรมฅนแกร่ง ซึ่งเป็นชมรมเหิรเวหาของค่าย มีบุคคลสำคัญเดินทางเข้ามาในค่าย และได้ทุ่มเทพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและกำลังพลของหน่วยในด้านต่าง ๆ กำลังของหน่วยได้รวบรวมเงินกันจัดทำโล่ผู้บังคับบัญชาที่ควรยกย่องสรรเสริญมอบให้ในวันจบภารกิจ
ประมาณปี พ.ศ.2540 หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้อาคารพาณิชย์บริเวณนัดบน ซึ่งไม่มีน้ำและรถดับเพลิงเพียงพอจึงทำให้สกัดการลุกไหม้ของไฟได้ไม่ดีพอ ร้านขนมหวานแม่บุญล้นถูกไฟไหม้หมด จึงได้ย้ายจากร้านที่ถูกไฟไหม้ไปตั้งใหม่ที่บริเวณริมคลองชลประทานสาย 3 ผลจากไฟไหม้ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้คิดแก้ไขโดยได้ทำทางลงแม่น้ำเพชรบุรีและลานคอนกรีตบริเวณสุดซอย 1 เดิมหรือซอยเทศบาล 10 ซึ่งเป็นท่าน้ำเดิมและประชาชนที่เป็นเจ้าของที่ดินบริเวณดังกล่าวมอบสิทธิ์ให้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ใช้เป็นเส้นทางให้รถดับเพลิงสำหรับวิ่งลงเติมน้ำและไปขึ้นที่ซอย 2 หรือซอยเทศบาล 10 ได้สะดวก ในกรณีที่อาจเกิดไฟไหม้ท่ายางในอนาคตอีก
17 ก.ย.42 พ.ต.เบญจพล รังษีภาณุรัตน์ ได้รับการคัดเลือกจากกองทัพบกให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายข่าวกรอง กองกำลังทหารบกไทย/ติมอร์ ซึ่งเป็นหน่วยล่วงหน้าในการปฏิบัติการบังคับให้เกิดสันติภาพ ณ ติมอร์ตะวันออก จนถึง 6 ส.ค.43
25 พ.ค.42 สุขาภิบาลท่ายาง ยกฐานะเป็นเทศบาลตำบลท่ายาง
22 ก.ค.45 พ.ท.เบญจพล รังษีภาณุรัตน์ ได้รับการคัดเลือกจากสหประชาชาติให้ปฏิบัติหน้าที่นายทหารปฏิบัติการสันติภาพ กรมปฏิบัติการสันติภาพ สหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก จนถึง 21 ก.ค.48
ประมาณปี พ.ศ.2551 กำนันจุกและนายสถาพร(แดง) ถัมภ์บรรณฑุ สารวัตรกำนัน ได้รวบรวมกำลังคนและได้รับงบประมาณบางส่วน ทำการพัฒนาพื้นที่บริเวณใกล้เคียงลานคอนกรีตซึ่งเป็นแหล่งเสื่อมโทรมด้วยการทำที่พักน้ำเสีย และนำต้นไม้ยืนต้นมาปลูก โดยมีนางสาวบุญธรรม เกิดจิตต์ ช่วยดูแลตกแต่ง รดน้ำ และปลูกต้นไม้ อยู่เป็นประจำ
ตุลาคม 2546 เกิดน้ำท่วมใหญ่ของเพชรบุรี ท่ายางซึ่งเป็นต้นน้ำได้รับความเสียหายของพื้นที่การเกษตรจำนวนมาก และแม้ว่าน้ำท่วมท่ายางในอดีตที่ผ่านมาจะเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะที่เคยเกิดขึ้นในปี 2514 แต่ในครั้งนี้น้ำได้ท่วมข้ามถนนเพชรเกษมบริเวณท่ากระเทียมสูงมากจนรถวิ่งผ่านเส้นทางไม่ได้
พ.ศ.2549 กรมชลประทานได้ขุดลอกแม่น้ำเพชรบุรีตั้งแต่ท้ายเขื่อนเพชรลงไปจนถึงบ้านแหลม เพื่อเปิดทางน้ำอันจะเป็นการป้องกันน้ำท่วมแบบปี 2546 แต่ผลกระทบที่ตามมาคือทรายในแม่น้ำได้ถูกดูดขึ้นเรือดูดทรายไปจนแทบไม่เหลือให้เห็นร่องรอยเดิม
ปี พ.ศ.2552 มีการเลือกตั้ง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ใหม่ และผู้ที่ได้รับเลือกตั้งคือ นายปรีชา ผ่องใส ซึ่งต่อมาได้รับเลือกให้เป็นกำนันท่ายาง ได้รวบรวมประชาชนในตำบลท่ายางพัฒนาพื้นที่ที่กำนันจุกได้เริ่มต้นให้มีความสะอาดและเป็นระเบียบมากยิ่งขึ้น รวมทั้งได้ทำความสะอาด ขุดลอกสาหร่าย วัชรพืชในแม่น้ำเพชรบุรีที่อยู่ติดพื้นที่ด้วย โดยได้รับการสนับสนุนเครื่องมือหนักจาก นายชัยยะ อังกินันทน์ นายก อบจ.เพชรบุรี และคุณนฤมล กิจพ่วงสุวรรณ นายกเทศมนตรีตำบลท่ายาง
มี.ค.2553 นายสาลี่ และนางเฉลียว รังษีภาณุรัตน์ โดย พ.อ.เบญจพล รังษีภาณุรัตน์ ซึ่งมีบ้านเรือนตั้งอยู่ตรงจุดที่เป็นท่าน้ำโบราณ บริจาคเงินจำนวน 150,000 บาท สร้างศาลา “ฅนรักษ์ท่าย์” เพื่อเป็นสัญลักษณ์และสร้างแรงบันดาลใจในการร่วมแรงร่วมใจและเสียสละของคนในชุมชนท่ายาง
16 เม.ย.53 กำนันตำบลท่ายางร่วมกับชุมชนศาลเจ้าท่ายางได้ย้ายการจัดการก่อพระเจดีย์ทรายประเพณีประจำปี จากบริเวณหน้าศาลเจ้าแม่ทับทิมมาจัดที่บริเวณสวนริมน้ำ หรือท่าน้ำเก่าเป็นครั้งแรก ซึ่งการจัดงานประสพความสำเร็จมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา
ก.ค.53 ร้านอารมย์พานิช ได้บริจาคเงินจำนวน 110,000 บาท เพื่อสร้างศาลาริมน้ำ บริเวณลานคอนกรีต เพื่อเป็นประโยชน์ส่วนรวมและอนุสรณ์ให้แก่ นายดิลก ฑฤกฆชนม์
5 ธ.ค.53 นายสาลี่ รังษีภาณุรัตน์ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นพ่อตัวอย่าง ประจำปี 2553 ของจังหวัดเพชรบุรี
ก.พ.54 นายสาลี่ และนางเฉลียว รังษีภาณุรัตน์ โดย พ.อ.เบญจพล รังษีภาณุรัตน์ ได้บริจาคเงินจำนวน 100,000 บาท ปรับปรุงทางลงท่าน้ำ และสร้างบันได้ฉันรักท่ายาง และร่วมกับประชาชนในพื้นที่สร้างราวรั้วฉันรักท่ายางซึ่งได้รับเงินบริจาคเพิ่มเติมอีก 56,000 บาท
20 ก.พ.54 คณะกรรมการชุมชนย่อยศาลเจ้าท่ายางและกำนันตำบลท่ายางได้มอบหมายให้ พ.อ.เบญจพล รังษีภาณุรัตน์ เป็นหัวหน้าคณะทำงานการจัดงานการก่อพระเจดีย์ทรายประเพณีร้อยปี ชุมชนศาลเจ้าท่ายาง ประจำปี 2554 โดยมีคณะทำงานประกอบด้วย  นายปรีชา ผ่องใส นางวันทนา เก่งทอง นายมานะ ราญไพร นายสงคราม อิ่มสำราญ นายณรงค์ พรมจันทร์ นายกิตติศักดิ์ เพชรน้อย นายกิตติ  โอบอ้อม นางจินตนา ศิริเศรษฐ นางสาวกาญจนา เจียรทรัพย์ นายชุมสาย ซาบซึ้งไพร คุณอารีย์ วงศ์ใหญ่ คุณกัญญา  แสงเถกิง น.ส.อารีย์ ศุภอักษร            น.ส.ณัฐญาภรณ์ กาญจนภูษิต นางสุมิตรา เทหะมาศ นายศกล นิเวศน์วรทาน     นายประพันธ์ ผ่องใส นายปราโมทย์              เสงี่ยมพันธ์ศิริ  และนางลาวัลย์ กาญจนภูษิต
มี.ค.54 นางล้วน ศิริเศรษฐ บริจาคเงิน 50,000 บาท ร่วมกับชมรมอนุรักษ์เพลงเก่า ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านตำบลท่ายาง และชุมชนท่ายาง บริจาคเงิน 30,000 บาท เพื่อสร้างลานเอนกประสงค์
มี.ค.54 พ.อ.เบญจพล รังษีภาณุรัตน์ ได้ริเริ่มโครงการ “นำทรายคืนแม่น้ำเพชร” โดยบริจาคเงินซื้อทรายกรวดจำนวน  11 คันรถหกล้อมาเทลงบริเวณท่าน้ำ ฉันรักท่ายาง
เม.ย.54 พ.อ.เบญจพล รังษีภาณุรัตน์ ได้กำหนดคำว่า “ฅนรักษ์ท่าย์” เพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ความสมัครสมานสามัคคีของกลุ่มประชาชนที่มีความเกี่ยวข้องและมีความรักผูกพันกับอำเภอท่ายางทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม โดยมุ่งหวังให้เกิดเป็นแรงผลักดันการสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมของคนท่ายาง และได้มีการออกแบบสัญลักษณ์และการเขียนคำว่า “ฅนรักษ์ท่าย์” ไว้ที่กำแพง โดยผู้เขียนคือ นายธนา(หัน) เกิดจิตต์
16 เม.ย.54 คณะทำงานก่อพระเจดีย์ทรายประเพณีร้อยปี ชุมชนศาลเจ้าท่ายาง ประจำปี 2554 โดยการนำของ พ.อ.เบญจพล รังษีภาณุรัตน์ กำนันปรีชา ผ่องใส นายประกิจ สุดเดือน คณะกรรมการชุมชนย่อยศาลเจ้าท่ายางและการสนับสนุนจากนายธานี ยี่สาร ร้านวิจิตร พ่อค้าประชาชนชาวท่ายาง เทศบาลตำบลท่ายาง และอำเภอท่ายาง จัดงานก่อพระเจดีย์ทรายประเพณีร้อยปี ชุมชนศาลเจ้าท่ายาง ปี 54 ที่บริเวณสวนริมน้ำ “ฅนรักษ์ท่าย์” และลาน “ฉันรักท่ายาง” ประสพความสำเร็จเป็นอย่างดียิ่ง โดยมีประชาชนมาเที่ยวชมงานหลายพันคน มีรายรับประมาณ 160,000 บาท คิดเป็นผลกำไร ซึ่งจะนำไปไปประโยชน์ต่อส่วนรวม ประมาณ 70,000 บาท โดยการจัดงานดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากชุมชนและตำบลยางหย่องในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้สวยงาม โดยส่วนหนึ่งนายสาลี่ และนางเฉลียว รังษีภาณุรัตน์ได้สนับสนุนงบประมาณการดำเนินการ
หลังจากความสำเร็จของการจัดงานก่อพระเจดีย์ทราย พ.อ.เบญจพล รังษีภาณุรัตน์ ได้มีแนวความคิดที่จะทำให้สวนริมน้ำ “ฅนรักษ์ท่าย์” เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ อนุรักษ์วัฒนธรรม การค้าและเกิดประโยชน์ตลอดทั้งปีสำหรับคนท่ายาง จึงได้เสนอวิสัยทัศน์และสร้างแรงบันดาลใจต่อชุมชนและผู้ที่เกี่ยวข้องให้มองเห็นถึงศักยภาพของประชาชนในพื้นที่ที่จะสามารถสร้างในสิ่งที่ชุมชนอื่นทำไม่ได้ คือ การสร้างตลาดริมน้ำแห่งแรกของเพชรบุรี จากฝีมือและสมองของประชาชนคนท่ายาง
26 เม.ย.54 แม่บ้านพ่อบ้านจากชุมชนสมุทรปราการจำนวนประมาณ 300 คน ได้เดินทางมาเยี่ยมชมสวนริมน้ำ “ฅนรักษ์ท่าย์” เพื่อรับทราบแนวทางการพัฒนาแหล่งเสื่อมโทรมให้เป็นสถานที่ที่เป็นธรรมชาติและสวยงามโดยการดำเนินการดังกล่าวเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของประชาชนในพื้นที่ โดยหน่วยงานภาครัฐหรือท้องถิ่นให้การสนับสนุนอยู่ห่าง ๆ
30 เม.ย.54 พ.อ.เบญจพล รังษีภาณุรัตน์ เสนอชื่อ “ท่าย์น้ำข้ามภพ” เป็นชื่อการจัดสร้างตลาดริมน้ำแห่งแรกของท่ายางและเพชรบุรี ต่อกรรมการชุมชนศาลเจ้าท่ายาง กำนันตำบลท่ายางและกำนันตำบลยางหย่อง โดยมีความหมายว่า สถานที่สองฝั่งแม่น้ำเพชรบุรีของอำเภอท่ายาง ซึ่งเป็นจุดพบบรรจบกันอย่างลงตัวของความแตกต่างทั้งในมิติของเวลาและสภาพแวดล้อมทางกายภาพ รวมถึงความคิดความเชื่อของคนที่มีความเป็นมาแตกต่างกัน
มี.ค.-พ.ค.54 คณะกรรมการชุมชนย่อยศาลเจ้าท่ายาง เทศบาลตำบลท่ายาง อำเภอท่ายาง สถานีตำรวจภูธรท่ายาง พ่อค้าประชาชนชาวท่ายาง ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และชาวยางหย่อง สถาบันราชภัฏเพชรบุรี คุณบุญสม นุชนิยม นายรัตน รัตนหานนท์ ได้ให้กำลังใจ คำแนะนำและข้อเสนอรวมทั้งการสนับสนุนงบประมาณเครื่องจักร เครื่องมือและลงแรงในการเตรียมการจัดงาน “ท่าย์น้ำข้ามภพ”
10 พ.ค.54 หลังจากที่มีความพยายามจะสร้างสะพานคนเดิมข้ามแม่น้ำเพชรบุรีตรงท่าน้ำเดิมข้ามไปฝั่งยางหย่องเพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ของการข้ามภพ มาระยะเวลาหนึ่งแต่ไม่ประสพความสำเร็จ เนื่องจากไม่มีช่างผู้ชำนาญและขาดเงินการก่อสร้าง กำนันปรีชาจึงได้ปรึกษาหารือกับ นายสามารถ อินทร์ปรุง เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอท่ายาง ซึ่งได้เห็นแรงศรัทธาของชาวท่ายาง จึงได้อาสาสร้างโครงสร้างสะพานลวดสลิง 6 เส้น ให้โดยไม่คิดมูลค่าจากราคาจริงไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท โดยมีชาวบ้านทั้งสองฝั่งช่วยกันออกแรงงาน และมีผู้บริจาคในส่วนสิ่งของเพิ่มเติม
14 -15 พ.ค.54 พ.อ.เบญจพล รังษีภาณุรัตน์ นายปรีชา ผ่องใส นางวันทนา เก่งทอง นายสกล ศุภลักษณ์เลิศกุล นายประกิจ สุดเดือน นางสาวแสงวรรณา อยู่แย้ม กำนันตำบลยางหย่อง และนายปราโมทย์ พุ่มทอง ประธานสภา อบต.ยางหย่อง และประชาชนตำบลท่ายางและตำบลยางหย่อง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ได้ร่วมแรงร่วมใจกันจัดสร้าง “ท่าย์น้ำข้ามภพ” ตลาดริมน้ำแห่งแรกของเพชรบุรี โดยมีกำหนดการเปิดงานครั้งแรกในวันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคม 2554 เวลา 15.00 – 22.00 น. ณ บริเวณสวนริมน้ำ “ฅนรักษ์ท่าย์” ริมแม่น้ำเพชรบุรี สุดซอยเทศบาล 10 และ 12 (ซอย 1 และ 2 เดิม) ตำบลท่ายาง และฝั่งยางหย่อง ตำบลยางหย่อง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี โดยเรียนเชิญนายสุรชัย อังเกิดโชค รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีมาเป็นประธานการเปิดงาน การดำเนินการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการปรับปรุงสภาพแวดล้อมและธรรมชาติแบบยั่งยืน  การพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แม่น้ำเพชรบุรี รวมทั้งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประชาชนในพื้นที่ นำความเจริญและอยู่ดีกินดีมาสู่ชมชน และการสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ชาวท่ายางและคนเพชรบุรี ด้วยการจัดเป็นตลาดริมน้ำทั้งสองฝั่งแม่น้ำเพชรบุรี และจะจัดทุกเสาร์อาทิตย์สัปดาห์แรกของเดือนต่อไป 
4 – 5 มิ.ย.54 ท่าย์น้ำข้ามภพ เปิดให้นักท่องเที่ยวได้เที่ยวชมเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจากแม่ค้า ประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวจำนวนมาก พ.อ.เบญจพล รังษีภาณุรัตน์ จึงเสนอให้เปิดท่าย์น้ำข้ามภพเป็นประจำทุกวันเสาร์อาทิตย์ โดยคณะกรรมการแม้ว่าจะมีส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยเนื่องจากเกรงว่าตลาดอาจจะเติบโตเร็วเกินไปและเกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา แต่ก็มิได้คัดค้าน ท่าย์น้ำข้ามภพจึงเปิดดำเนินการทุกวันเสาร์อาทิตย์ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
4 ก.ค.54 กำนันยางหย่องและ อบต.ยางหย่อง สานต่อโครงการ “นำทรายคืนแม่น้ำเพชร” โดยนำหินกรวดจำนวน 30 คันรถสิบล้อมาเทชายตลิ่งทับโคลนเลนตมและวัชพืช เพื่อให้เป็นหาดทรายสวยงามให้แก่ประชาชนได้พักผ่อนบริเวณฝั่งยางหย่อง
******************************************
เริ่มจัดทำ พ.ค.54
ทันสมัยเมื่อ 10 ก.ค.54

วันพุธที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ที่มาและที่ไปของชื่อ “ท่าย์น้ำข้ามภพ”

------------------------------------------------------------------------------------
คำถามหนึ่งในอดีตที่ผมมักถูกถามจากเพื่อน ๆ กรุงเทพหรือจังหวัดอื่น คือ บ้านเกิดผมอยู่ที่ไหน ผมก็จะตอบอย่างภาคภูมิใจว่า อยู่ท่ายาง เขาจะถามตอบว่า ท่ายางอยู่ไหน ผมจะลดความมั่นใจไปครึ่งหนึ่งแต่ก็ตอบได้ว่า ท่ายางเหรอก็เลยแยกเขาวังเพชรบุรีมาทางหัวหิน 17 กิโล หรือก่อนถึงชะอำ 25 กิโลเมตร เขาก็จะถามต่ออีกว่า แล้วท่ายางมีอะไรน่าเที่ยวบ้าง ผมก็จะเงียบแล้วก็คิดในใจว่าเออแล้วท่ายางมีอะไรน่าเที่ยวบ้างล่ะที่จะอวดเพื่อน ๆ ได้บ้าง
“อะไร(ว่ะ) ท่าย์น้ำข้ามภพ” เป็นคำถามยอดฮิตของคนท่ายาง พ.ศ.นี้ ที่ได้ยินชื่อสถานที่แห่งนี้เป็นครั้งแรกและคงจะเป็นคำถามยอดฮิตของนักท่องเที่ยวหรือผู้คนจากชุมชนอื่นอีกมากมายในไม่ช้า ซึ่งยิ่งมีคำถามถี่ขึ้นหรือข้อสงสัยมากขึ้นเท่าไร นั่นหมายความว่าการยุทธศาสตร์การตั้งชื่อในครั้งนี้ประสพความสำเร็จมากขึ้นเท่านั้น
ผู้คนจำนวนไม่น้อยรู้ดีว่าชื่อต่าง ๆ ที่ตั้งกันมานั้นหากมีการคิดใคร่ครวญและนำอดีต ปัจจุบันและอนาคตมารวมอยู่ด้วยกันแล้ว จะมีพลังและสามารถดึงดูดความสนใจของคนได้ไม่น้อยกว่าแรงดึงดูดอย่างอื่น ๆ ชื่อเป็นคำสั้น ๆ ที่เปรียบเสมือนสัญลักษณ์หรือตราของสินค้า (Logo) ซึ่งใช้สื่อสารระหว่างคนหรือกลุ่มคนที่ใช้เวลาสั้นแต่ทำให้คนเข้าใจเรื่องราวรายละเอียดอื่น ๆ ได้ด้วย และในบางครั้งยังก่อให้เกิดจินตนาการต่อเนื่องแบบไม่รู้จบอีกด้วย เช่น เราบอกว่าเจอผู้หญิงคนหนึ่งสวยเหมือนนางสาวไทย คนที่ฟังอยู่แม้ว่าไม่เคยเห็นผู้หญิงคนนั้นมาก่อนจะนึกภาพต่อได้ว่า ผู้หญิงคนที่ว่าจะมีรูปร่างหน้าตา ผิวพรรณ เป็นเช่นไร
ท่าย์น้ำข้ามภพ ชื่อนี้ย่อมมีที่มาและที่ไปอย่างแน่นอน ซึ่งต่อไปนี้ก็คือเรื่องที่ผมจะเล่าให้ท่านได้อ่านกันยามมีเวลาว่าง
            ครั้งแรกที่ผมคิดสร้างตลาดน้ำของท่ายางขึ้นมานั้น ก็มีปัจจัยประกอบหลายประการ โดยสิ่งแรกก็คือ ในอดีตประมาณปี พ.ศ.2514 – 2519 ครั้งผมยังเป็นเด็กและเพื่อน ๆ รวมทั้งอีกหลายคนของท่ายางคงจะมีความทรงจำที่ดีต่อแม่น้ำเพชรบุรีหลังบ้านผมเองที่ติดนัดล่างของท่ายาง ซึ่งหาดทรายสะอาดปราศจากขยะ น้ำใสไหลรินในหน้าแล้ง และหน้าน้ำหลากปีละเดือนถึงสองเดือนในหน้าฝนที่พัดพาขอนไม้และผักตบจำนวนมากไหลไปตามเส้นทางที่คดเคี้ยวของแม่น้ำเพชรบุรี ซึ่งความทรงจำตอนนั้นที่จำได้ดี คือหน้าแล้งพวกเราจะสนุกกับการจับปลาจับหอย ดำน้ำมุดขอนที่ติดขวางแม่น้ำอยู่สองแห่ง หน้าน้ำเราจะสนุกกับการเล่นห่วงยางในรถยนต์ลอยน้ำ หรือว่ายน้ำไล่จับกัน เกาะเรือที่ถ่อโดยกำนันแสงสมัยยังสาวที่รับส่งผู้คนข้ามฟาก รวมทั้งกระโดดสะพานไม้เดิมที่รื้อถอนไปแล้ว แล้วช่วงชีวิตของผมกับท่ายางก็หายไป 20 ปี กับการไปเป็นทหาร จนผมมีครอบครัวและพาลูกเมียกลับมาหาพ่อแม่หรือเที่ยวท่ายางบ่อยมากขึ้น ซึ่งมีเวลามานั่งคุยกับพ่อแม่ซึ่งก็ได้มุมมองอีกมุมหนึ่งจากแม่ที่เล่าเรื่องท่าน้ำข้างบ้านในอดีตก่อนผมเกิดว่าเป็นเส้นทางสัญจรของเรือนับร้อยลำ โดยเฉพาะหน้าน้ำจะมีเรือมาเทียบท่าเต็มไปหมด จนคนที่จะไปอาบน้ำซักผ้าแทบจะแทรกตัวระหว่างเรือลงถึงน้ำได้ยากเต็มที
ภาพของท่าน้ำข้างบ้านในอดีตที่ไม่นานของผมและของแม่สมัยยังสาวที่ไม่เหมือนกันอยู่แล้วกลับแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับท่าน้ำ ณ เวลาที่ผมนั่งฟังแม่เล่าเรื่องเก่าให้ฟัง ซึ่ง ณ วันเวลานั้นก่อนปี 2550 หากเดินลงไปในท่าน้ำก็จะพบกับแม่น้ำตื้นเขินที่มีแต่สาหร่าย วัชพืชและสวะ ขยะที่ลอยมาติดแทนที่ผืนทรายที่ถูกเรือดูดทรายดูดออกไปจนหมดเมื่อหลายปีก่อน ริมตลิ่งแม่น้ำก็มีแต่เศษสิ่งปฏิกูล วัตถุสิ่งของแตกหักชำรุดใช้การไม่ได้ ที่คนแอบนำมาทิ้งให้พ้นบ้านตนเองเททับถมไว้นับสิบปี และยังมีน้ำเน่า น้ำคลำจากบ้านเรือนที่ระบบระบายน้ำแตกเสียหายรั่วไหลเจิ่งนองเป็นที่เพาะพันธุ์ของแมลงวัน ยุง และกอต้นกก ต้นบอนขนาดใหญ่คลุมพื้นที่ลานหลังบ้านผมกว่าครึ่ง จนแทบจะเดินไม่ได้และไม่มีใครเข้าไปใกล้เพราะเกรงว่างูจะกัดเอา ภาพดังกล่าวคนท่ายางส่วนใหญ่มักไม่ทราบมากนัก เนื่องจากชื่อเสียงด้านความสกปรกดังกล่าวทำให้ไม่มีใครคิดแม้จะเดินผ่านหากไม่จำเป็น ผมเองช่วงที่พ่อเริ่มป่วยเดินไม่ได้เมื่อ พ.ย.50 ได้กลับบ้านถี่มากขึ้นเพื่อมาปรับปรุงบ้านให้เหมาะสมกับคนป่วย และปรับปรุงรอบ ๆ บ้านไปด้วยโดยได้จ้างช่างรับเหมาขุดดิน ปรับท่อน้ำเสีย ฝังเผาขยะ กำจัดหนอนที่สร้างอาณาจักรเป็นหมื่นเป็นแสนตัว และวัชพืช รวมทั้งทำความสะอาดบริเวณหลังบ้านให้หมดความสกปรกและความน่ากลัวโดยเหมาคนงานทำอยู่หลายวัน หมดเงินค่าของและค่าจ้างแรงงานหลายรอบรวมประมาณใกล้สองหมื่นบาท
การทำความสะอาดท่าน้ำหลังบ้านของผมแม้ว่าจะติดต่อกันนานนับปี แต่ท่านคงทายได้ว่าคงไม่ได้ผลอะไรมากนัก เพราะผมมาบ้านท่ายางได้เพียงบางเสาร์อาทิตย์เท่านั้น ซึ่งการเดินเก็บกวาดขยะหลังบ้านหลังจากวิ่งออกกำลังกายอยู่คนเดียวย่อมจะสู้จำนวนคนหลายสิบคนที่นำขยะมาทิ้งทุกวันไม่ได้อย่างแน่นอน จนปลายปี 2552 ต่อต้นปี 2553 ได้มีการพัฒนาพื้นที่ริมท่าน้ำใกล้กับข้างบ้านผมโดยการถางถางป่ากกและป่าอ้อที่ขึ้นเต็มไปหมดให้เป็นพื้นที่โล่งและถมดินให้เสมอใช้ประโยชน์สำหรับการนั่งเล่นพักผ่อนได้ โดยวันหนึ่งของเดือน ก.พ.53 ผมมาเยี่ยมบ้านและเดินลงไปดูว่าเขาทำอะไรกัน ก็พบกำนันปรีชากับลูกน้องกำลังกางแผ่นสแลนขึงครอบทำเป็นหลังคากับเสาไม้สน 4 ต้น ผมจึงถามว่ากำลังทำอะไรกันอยู่ กำนันตอบว่า กำลังทำศาลาง่าย ๆ ให้คนมานั่งพักผ่อน โดยกำนันออกเงินเองประมาณ 1,000 บาท
นับว่าเป็นเรื่องบังเอิญจริง ๆ ที่เมื่อปลายปีที่ผ่านมาพ่อผมมีจิตศรัทธาต้องการสร้างศาลาขนาดย่อม ๆ ที่วัดบ้านเกิดแทนศาลาไม้หลังคาสังกะสีของปู่ที่เคยสร้างไว้ให้พระ เณรใช้พักอาบน้ำเมื่อหกเจ็ดสิบปีก่อนที่รู้จักกันดีว่าศาลาแป๊ะคุ้ย โดยตั้งงบประมาณไว้ในใจว่าจะถวายให้ 200,000 บาท แต่หลังจากที่น้ำไปออกแบบกันเรียบร้อย ทางวัดได้เสนอแบบก่อสร้างศาลาชั้นดีที่สามารถทำอย่างอื่นได้ด้วย เช่น ให้นาคมาไหว้ก่อนบวช ซึ่งเข้าท่าดีแต่ราคาเหมาที่เสนอมาด้วยคือ 400,000 บาท ผมจึงบอกพ่อว่าเกินงบมากไปหน่อยแล้วก็ถอยมาก่อนโดยถวายเงินสดให้กับทางวัดไป 100,000 บาท ดังนั้น เมื่อมาเจอเรื่องที่กำนันจะสร้างศาลาริมน้ำ ความคิดการสร้างศาลาเพื่อประโยชน์ส่วนรวมก็เลยผุดกลับขึ้นมาใหม่อีกครั้ง
ผมก็เลยบอกกำนันว่าการพัฒนาพื้นที่ให้ยั่งยืนและได้รับความร่วมมือจากประชาชน เราต้องสร้างวัตถุถาวรที่ก่อให้เกิดความเชื่อมั่นและแรงบันดาลใจให้เกิดขึ้นกับประชาชน เมื่อเกิดขึ้นแล้วประชาชนจะเดินเข้ามาเอง ดังนั้น การสร้างที่กั้นแดดแบบไม่ถาวรนี้ คงอยู่ได้ไม่นานและไม่สวยงาม สร้างแล้วไม่นานก็เสียเปล่า แล้วผมก็เสนอว่า ครอบครัวทางพ่อแม่ผมจะสร้างศาลาถาวรให้หลังหนึ่งกว้างยาวประมาณด้านละ 4 เมตร โดยมีข้อแม้ว่าราคาต้องไม่แพงนักและกำนันต้องหาช่างมาทำและควบคุมการก่อสร้างให้เสร็จทันงานก่อพระเจดีย์ทราย หลังจากหายไปอาทิตย์หนึ่ง กำนันก็โทรแจ้งข่าวว่าได้ช่างรับเหมาสร้างศาลาแล้ว โดยราคาเหมาของและค่าแรงด้วยประมาณ 45,000 บาท ซึ่งผมได้ยินราคาดังกล่าวก็ตอบตกลงผ่านทางโทรศัพท์ทันที การก่อสร้างเริ่มประมาณกลางเดือน มี.ค.53 โดยกำนันคุมงานและผมให้ลูกพี่ลูกน้องถ่ายรูปส่งภาพความก้าวหน้าการก่อสร้างมาให้ผมดูผ่านทางโทรศัพท์ทุกวันเนื่องจากผมติดพันกับสถานการณ์ในกรุงเทพ ตรงนี้มีข้อดีที่ผมเห็นความก้าวหน้าติชมเปลี่ยนแปลงรูปแบบได้เป็นรายวัน แต่ข้อเสียที่เด่นชัดก็คือค่าก่อสร้างบานขึ้นเรื่อย ๆ ตามที่ผมเพิ่มและดัดแปลงการก่อสร้างตามที่ผมเห็นและข้อเสนอของกำนันที่อยากจะทำให้ดีตามความตั้งใจผม ซึ่งในท้ายที่สุดจากราคาเริ่มต้นที่ 45,000 บาท มาจบลงอยู่ที่ 150,000 บาท ซึ่งมากกว่าที่ตั้งไว้ 3 เท่า 
ศาลาได้นำมาใช้ประโยชน์ทันเวลาก่อพระเจดีย์ทรายของชุมชนศาลเจ้าท่ายางเมื่อ 16 เม.ย.53 โดยใช้เป็นที่สรงน้ำพระและวางพานพุ่มทอดผ้าป่าวัดท่าโล้ พ่อแม่ของผมยิ้มแย้มมีความสุขที่ได้รับเกียรติและคำชื่นชม รวมทั้งโล่ขอบคุณจากชุมชนที่ได้สร้างศาลาเพื่อประโยชน์ต่อคนท่ายาง แต่หลังจากวันนั้นแล้ว ทุกอย่างก็กลับไปเกือบเหมือนเดิม คือ การสะสมเพิ่มขึ้นของมูลสุนัข ขยะ  ต้นไม้ที่เริ่มรก ดินทลายจากน้ำฝนชะถนน คนมาค้าขายเดินมาแอบปลดทุกข์ริมน้ำตามสุมทุมพุ่มไม้ ถกกางเกงปล่อยของเสียตามร่องน้ำที่เริ่มเฉอะแฉะ และที่ต่างออกไปก็คือ เวลาดึก ๆ วัยรุ่นชายหญิงมานั่งกินเหล้ากินเบียร์ ทุบขวดเปล่าให้แตกแล้วขว้างลงพื้นและลงแม่น้ำ รวมทั้งทุบทำลายไฟฟ้าและฝ้าศาลา โดยไม่มีใครทำอะไรได้นอกจากการบ่นด่าคนทำซึ่งไม่รู้ว่าเป็นใครให้ผมฟัง
หนึ่งปีผ่านไปการก่อพระเจดีย์ทรายปี 2554 ใกล้จะจัดขึ้นอีกตามวงรอบ ผมเองหลังจากตัดสินใจทิ้งความก้าวหน้าในการเป็นทหารตั้งแต่เดือน ต.ค.53 มาดูแลพ่อแม่ ซึ่งหลังจากได้ปรับปรุงบ้านที่อยู่ปากซอยท่าน้ำประมาณ 3 เดือนได้ดั่งใจแล้ว ก็ได้คุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องเรื่องการทำให้ท่าน้ำเป็นสถานที่ที่มีชีวิต มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา หลังจากนั้นได้รับมอบหมายจากส่วนรวมให้เป็นประธานการก่อพระเจดีย์ทราบประเพณีร้อยปี ผมจึงได้ร่วมกันคิดและทุ่มเททำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในงานการก่อพระเจดีย์ทรายประจำปีที่ผ่านมาในทุกเรื่อง ตั้งแต่การตั้งชื่องาน การวางแผน การประสานงาน ความริเริ่มใหม่ การบริหาร การลงทุน การประชาสัมพันธ์ ฯลฯ ซึ่งมีสิ่งหนึ่งที่ผมผลักดันอยู่อย่างเงียบ ๆ ก็คือ การตั้งร้านขายของอาหารบริเวณพื้นที่การจัดงาน และการทำตลาดขายสินค้าบนถนนราษฎร์บำรุงในลักษณะตลาดโบราณผสมผสานกับตลาดเปิดท้ายที่มีการจัดทั่วไปตามอำเภอและจังหวัดต่าง ๆ โดยผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการและรับผิดชอบหลักคือ นายสกล ศุภลักษณ์เลิศกุล หรือเคิร์ก ซึ่งเคยจัดตลาดเปิดท้ายที่ข้างสวนสุขภาพชายคลองเมื่อหลายเดือนก่อน
คืนวันงานก่อพระเจดีย์ทราย ผมเดินขึ้นเดินลงบริเวณจัดงานและร้านค้า ร้านอาหารทั้งด้านล่างและด้านบนถนน รวมทั้งร้านขายข้าวหลามฝั่งยางหย่องที่ผมได้เชิญชวนให้กำนันแสงที่เคยรู้จักกันตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ตายายได้เชิญชวนชาวบ้านฝั่งยางหย่องที่มักประกอบอาชีพรับจ้างมาลองค้าขายกันดู ผมเดินดู เฝ้าสังเกตและประเมินผลในใจอยู่หลายรอบ ทางด้านร้านค้าบนถนนผมได้คุยกับเคิร์กซึ่งเป็นการรู้จักและคุยกันครั้งแรก เรื่องการขายของดีหรือไม่ดีของแม่ค้าและวิธีการรวบรวมแม่ค้าให้มาขาย ซึ่งฟังดูแล้วมันง่ายเหมือนปลอกกล้วยเข้าปากจริง ๆ แล้วผมก็พาครอบครัวเข้าบ้านนอน วันต่อมาหลังจากทำบุญกลางบ้านเสร็จผมขับรถพาครอบครัวกลับกรุงเทพ ระหว่างการเดินทางผมคุยกับภรรยาเรื่องการจัดงานที่ผ่านมา และสมองของผมก็เริ่มคำนวณและวิเคราะห์สิ่งที่ผ่านบริเวณท่าน้ำข้างบ้านไปด้วยกัน สมองผมย้อนภาพกลับไปในอดีต และจินตนาการทะลุไปในอนาคต บวกกับการนำคนที่ผมรู้จักในห้วงสองสามเดือนที่ผ่านมา ซึ่งต่างคนต่างบุคลิกและรูปแบบความเป็นมาอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นคุณวันทนา หรือทองม้วน แม่เล็ก กำนันแสง ยางหย่อง กำนันปรีชา และอีกสองสามคนที่ผมกล่าวมาแล้ว และก่อนที่ผมจะเดินทางถึงบ้านที่กรุงเทพสมองก็ประมวลผลเสร็จออกมาเป็นคำตอบที่ชัดเจนว่า ภาระหน้าที่ผมต้องทำต่อไปและเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือการสร้างตลาดน้ำที่ท่าน้ำข้างบ้านให้สำเร็จ
ผมใช้เวลาอีกสองวันเตรียมข้อมูลสรุปการจัดงานก่อพระเจดีย์ทรายประเพณีร้อยปี 54 และได้เขียนโครงการตลาดน้ำท่ายางต่อท้ายเข้าในท้ายเอกสารด้วย การประชุมกรรมการจัดงานก่อพระเจดีย์ทรายในเย็นวันที่ 20 เม.ย.54 เริ่มต้นด้วยความความสุขของกรรมการทุกฝ่ายที่การจัดงานก่อพระเจดีย์ทรายประสพความสำเร็จเป็นอย่างดี ความหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้งของทุกคน จากคำชมของชาวบ้านร้านตลาด และรายได้มากกว่ารายจ่ายกว่า 70,000 บาท แต่ความสุขเล็ก ๆ ดังกล่าวต้องสะดุดลงในตอนท้าย กรรมการทุกคนเงียบสนิทไม่มีความเห็นใด ๆ เมื่อทราบว่าผมมีโครงการจะจัดตลาดน้ำในเดือนต่อไปทุกต้นเดือนซึ่งครั้งแรกจะเปิดวันที่ 7 – 8 พ.ค.54 ซึ่งมีเวลาเตรียมตัวประมาณ 16 วัน (ต่อมาเลื่อนเป็น 14 – 15 พ.ค.54) และก่อนจะปิดการประชุมกรรมการท่านหนึ่งที่หายมึนจากการจู่โจมของผมเร็วกว่าเพื่อนได้ถามว่า แล้วเราจะตั้งชื่อตลาดน้ำเราว่าอะไรดีล่ะ ก่อนที่แต่ละคนจะทำหน้างง ๆ แล้วแยกย้ายกันกลับบ้าน
ผมมีเวลา 10 วันก่อนที่จะต้องนำเสนอชื่อตลาดให้กับที่ประชุมพิจารณาพร้อมแนวทาง  ซึ่งผมต้องนำส่วนประกอบต่าง ๆ มาผสมผสานและคิดคำที่จะเป็นชื่อของตลาดให้เป็นที่ยอมรับของทุกคนให้ได้ สิ่งแรกที่ผมใช้เป็นพื้นฐานหลักในการตั้งชื่อก็คือ ชื่อตลาดต้องฟังแล้วเกิดอิมแพค (Impact) หรือที่เรียกว่าโดนใจต่อคนที่ได้ยินชื่อครั้งแรก จากนั้นผมก็ค้นหาชื่อตลาดน้ำที่มีอยู่ในประเทศไทยหรือตลาดที่มีแนวทางเดียวกันทางอินเทอร์เน็ต ได้แก่ สามชุกตลาดร้อยปี ตลาดน้ำอัมพวา ตลาดน้ำอโยธยา  ตลาดน้ำสี่ภาค ถนนคนเดิน ตลาดโต้รุ่งหัวหิน ตลาดโก้งโค้ง ตลาดสองร้อยปีปราณบุรี ตลาดน้ำดำเนินสะดวก ตลาดน้ำท่าคา ตลาดน้ำคลองสระบัว ตลาดดอนหวาย ตลาดน้ำบางคล้า ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง ตลาดน้ำคลองลัดมะยม ตลาดน้ำคลองสวนร้อยปี ตลาดน้ำโบราณ ตลาดน้ำตลิ่งชัน ตลาดเก้าห้อง สวนศรี และเพลินวาน ซึ่งสรุปหลัก ๆ ก็คือการตั้งชื่อตลาดจะใช้ชื่อสถานที่นั้น ๆ เป็นหลักในการตั้งชื่อ แล้วต่อเติมคำให้ดูขลังหรือเก่าด้วยคำว่าโบราณ หรือร้อยปี ซึ่งผมเห็นว่ายังไม่โดนใจผม ผมเองมารู้สึกว่าที่ตลาดที่โดนใจผมเป็นชื่อสุดท้าย คือ เพลินวาน เพราะเมื่อสองปีก่อนที่ผมได้ยินคนพูดว่าไปเที่ยวเพลินวานครั้งแรก ผมเองฟังไม่ถนัดและเพี้ยนไปจากเดิมแล้วต้องถามกลับไปว่าอะไรนะ เพลิงวาง หรือวางเพลิง นี่มันอะไรกันแน่ หลังจากนั้นผมได้มาเปิดความเป็นมาในเวบไซท์ของเพลินวานและได้ไปเที่ยวเองมาสามสี่ครั้ง จึงเข้าใจที่มาของชื่อนี้และชื่นชมคนที่ตั้งชื่อนี้ ผมจึงใช้แนวทางการตั้งชื่อแบบเพลินวาน เป็นหลักการข้อที่ 2 โดยจะต้องชื่อไม่เกิน 2 พยางค์หรือถ้าจะเกินก็เกินไม่มากเพื่อให้จำง่ายไม่ผิดและมีนัยให้คนที่เห็นหรือได้ยินชื่อครั้งแรกเกิดความสงสัยใคร่รู้ อดถามไม่ได้และอธิบายแล้วก็ยังไม่เข้าใจจนต้องเดินทางมาดูด้วยตาตนเองสักครั้ง
จากนั้นผมก็นำสิ่งที่ผ่านมาในอดีตก็คือ ท่าน้ำก่อนที่ผมเกิดซึ่งแม่เล่าให้ฟัง กับท่าน้ำที่ผมรู้จักในช่วงชีวิตมาเป็นแนวทาง ซึ่งเวลาผมมองดูท่าน้ำจากบนดาดฟ้าบ้านยามเย็นและในบางครั้งก็ขี่รถเครื่องไปจอดยืนมองฝั่งบ้านท่ายางจากฝั่งยางหย่อง ในจินตนาการของผมจะมองเห็นภาพในอดีตที่ผมไม่เคยรู้จัก ซึ่งมีเรือและผู้คนมากมายกำลังสาละวนอยู่กับการทำมาหากินทั้งล่องเรือตามแม่น้ำ และข้ามฝั่งไปมาหากันอยู่ในแม่น้ำเพชร มารวมกับภาพที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นคือ ภาพลูกหลานของคนท่ายางในอนาคตและผู้คนจากที่อื่นมาพบปะทักทาย หรือเจรจาแลกเปลี่ยนสินค้ากันอย่างฉันท์มิตร ณ ที่แห่งเดียวกันนี้ จนปรากฏประโยคขึ้นในสมองของผมขึ้นมาเกี่ยวท่าน้ำว่า สถานที่ของท่ายางแห่งนี้เป็นสถานที่ที่คนซึ่งแตกต่างกันในทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นความคิด ความเชื่อ สภาพความเป็นอยู่ ในแต่ละชาติแต่ละภพได้ข้ามเวลาและมิติมาพบกันโดยเป็นความปรารถนาของลิขิตฟ้า  หลังจากนั้นผมก็ถอดเอาบางคำในประโยคนั้นมาเขียนลงในกระดาษหลายชื่อ เช่น ชะตาฟ้า ข้ามชาติ ข้ามพบ ฟ้าสั่ง น้ำฟ้า พบรัก ผ่านภพ และสุดท้ายก็มาลงที่คำว่า “ข้ามภพ” ว่าน่าจะเป็นคำที่อธิบายความหมายที่ผมคิดได้ทั้งหมด 
            หลังจากที่ได้คำว่า ข้ามภพ แล้ว ผมก็นำมาให้ทีมงานย่อยได้วิจารณ์ ซึ่งเมื่อฟังแล้วก็อึ้งกิมกี่กันไปตาม ๆ กัน และแม้ว่าด้วยความเกรงใจผม แต่สมาชิกบางคนก็อดถามไม่ได้ว่า แล้วใครมันจะรู้ว่านี่คือตลาดน้ำ ซึ่งผมก็บอกว่าชื่อเพลินวาน ก็ไม่ได้บอกเลยนะว่าเป็นตลาด แล้วเราก็ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการทำตลาดในสถานที่แห่งนี้เป็นลำดับแรก เราเพียงต้องการให้ตลาดช่วยในการดำรงอยู่ของสถานที่และเป็นส่วนหนึ่งที่จะดึงดูดคนบางกลุ่มเข้ามาในพื้นที่ เช่นเดียวกับ เราจะจัดสถานที่ให้สวยงาม มีกิจกรรมของครอบครัว การแสดงทางวัฒนธรรม และมีของจำหน่ายเป็นที่ระลึกบ้าง โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้คนท่ายางตอบคนต่างถิ่นได้ว่าท่ายางก็มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าเที่ยวและไม่เหมือนใครเช่นกัน ซึ่งน่าจะทำให้คนที่มาเที่ยวจำท่ายางได้ไปจนวันตาย
เมื่อผมตอบไปเช่นนั้น ทีมงานจึงบอกว่าคำสั้น ๆ แบบนั้น คงใช้ไม่ได้กับคนท่ายางเพราะเขาไม่เข้าใจด้วยน่าจะขยายความตามที่บอกอีกหน่อย ให้ครอบคลุมคำที่อธิบายมา คือหาคำที่เป็นเอกลักษณ์และภาคภูมิใจของคนท่ายางใส่ลงไปและทำให้พอรู้ว่าเรามีกิจกรรมที่เกี่ยวกับแม่น้ำเพชร ซึ่งแม้ว่าจะเป็นความเห็นที่แย้งกับขบวนการความคิดในการตั้งชื่อของผม แต่ด้วยเหตุผลที่มีน้ำหนักผมก็ไม่ขัดแย้ง และได้นำคำที่มีความหมายของตลาดริมน้ำเพชรบุรีในอำเภอท่ายางเข้าไปด้วย โดยได้กำหนดคำว่า ท่าย์ แทนคำว่าท่ายาง (ซึ่งดึงมาจากคำท้ายของ “ฅนรักษ์ท่าย์” ที่ได้ตั้งเป็นชื่อกลุ่มคนที่รักท่ายางเมื่อครั้งจัดงานก่อพระเจดีย์ทรายที่ผ่านมา) เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ ดังนั้น เมื่อทุกคนเห็นคำว่า ท่าย์ นั่นหมายถึงท่ายาง เพชรบุรี ที่เดียวเท่านั้น สำหรับการผิดหลักภาษาที่มีหลายคนทักมานั้น ผมใช้หลักการการตั้งชื่อเฉพาะเหมือนชื่อคนที่ไม่ต้องสะกดตามที่มีอยู่ในพจนานุกรม อีกทั้งแนวทางประเทศที่เจริญแล้ว เช่น ประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ การเกิดคำใหม่ ๆ ไม่จำเป็นต้องให้หน่วยงานรัฐเป็นคนคิด ประชาชนที่สร้าง คิด ประดิษฐ์ สิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมา สามารถกำหนดคำหรือชื่อขึ้นเองได้ หลังจากนั้นหากสาธารณชนยอมรับทางรัฐจะนำไปบันทึกในพจนานุกรม เช่นที่เราเห็นอยู่ปัจจุบัน ได้แก่ ไอโฟน ไอแพด ยาฮู กูเกิ้ล เป็นต้น และสำหรับคำว่า “น้ำ” นั้นใช้แทนความหมายของแม่น้ำเพชรบุรี โดยคำที่ทุกคนอยากจะให้ผมใส่เข้าไปแต่ผมยังไม่ยืนยันไม่ใส่เข้าไปคือคำว่าตลาด ซึ่งแม้ว่าจะเป็นคำที่คนทั่วไปเข้าใจได้ทันที ซึ่งผมเห็นด้วยบางส่วนและเชื่อว่าถ้าไม่มีตลาดสถานที่แห่งนี้ต้องไปไม่รอดแน่ แต่ผมยังเชื่อว่าในอนาคตการใช้ตลาดสำหรับสถานที่แห่งนี้น่าจะทำให้ด้อยค่าลง เพราะสถานที่แห่งนี้มิได้เพียงแต่นำของมาแลกเปลี่ยนกันเท่านั้น แต่ยังคลอบคลุมกิจกรรมสร้างสรรค์อื่น ๆ อีกมาก ไม่ว่าจะเป็น วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ กิจกรรมครอบครัว ผู้สูงอายุ วิธีชุมชน ศาสนา เป็นต้น ผมจึงไม่นำคำว่าตลาดใส่ลงไป
ซึ่งเมื่อได้ข้อสรุปดังกล่าวแล้วได้คำที่ไม่ต้องคิดมากไปกว่านี้ก็คือ คำว่า “ท่าย์น้ำ” แล้วมานำหน้าชื่อเริ่มแรกกลายเป็น “ท่าย์น้ำข้ามภพ” ซึ่งคล้องจองกันพอดี แล้วจึงได้นำไปเสนอในที่ประชุมกรรมการเมื่อ 30 เม.ย.54 โดยที่ประชุมมีข้อซักถามอยู่บ้างแต่ไม่มีใครคัดค้านชื่อ (เดาว่าจิตใจและความคิดของกรรมการแต่ละคนคงจดจ่ออยู่ในเรื่องที่ใหญ่กว่าคือ ตลาดมันจะเป็นไปได้หรือไปรอดไหมเนี่ย แต่คงไม่กล้าพูดให้เสียบรรยากาศการประชุม) ดังนั้น จึงทำให้คำว่า “ท่าย์น้ำข้ามภพ” ปรากฏขึ้นบนสากลพิภพ และทุกคนก็เริ่มต้นใช้คำนี้ เป็นธงชัยนำองคาพยพทั้งหมดของท่ายางไปสู่การสร้างตลาดริมน้ำแห่งแรกของเพชรบุรีตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
*************************************
บรรยายโดย พ.อ.เบญจพล รังษีภาณุรัตน์
เขียนครั้งแรก 15 มิ.ย.54 เพิ่มเติม 20 มิ.ย. 54