วันพุธที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ที่มาและที่ไปของชื่อ “ท่าย์น้ำข้ามภพ”

------------------------------------------------------------------------------------
คำถามหนึ่งในอดีตที่ผมมักถูกถามจากเพื่อน ๆ กรุงเทพหรือจังหวัดอื่น คือ บ้านเกิดผมอยู่ที่ไหน ผมก็จะตอบอย่างภาคภูมิใจว่า อยู่ท่ายาง เขาจะถามตอบว่า ท่ายางอยู่ไหน ผมจะลดความมั่นใจไปครึ่งหนึ่งแต่ก็ตอบได้ว่า ท่ายางเหรอก็เลยแยกเขาวังเพชรบุรีมาทางหัวหิน 17 กิโล หรือก่อนถึงชะอำ 25 กิโลเมตร เขาก็จะถามต่ออีกว่า แล้วท่ายางมีอะไรน่าเที่ยวบ้าง ผมก็จะเงียบแล้วก็คิดในใจว่าเออแล้วท่ายางมีอะไรน่าเที่ยวบ้างล่ะที่จะอวดเพื่อน ๆ ได้บ้าง
“อะไร(ว่ะ) ท่าย์น้ำข้ามภพ” เป็นคำถามยอดฮิตของคนท่ายาง พ.ศ.นี้ ที่ได้ยินชื่อสถานที่แห่งนี้เป็นครั้งแรกและคงจะเป็นคำถามยอดฮิตของนักท่องเที่ยวหรือผู้คนจากชุมชนอื่นอีกมากมายในไม่ช้า ซึ่งยิ่งมีคำถามถี่ขึ้นหรือข้อสงสัยมากขึ้นเท่าไร นั่นหมายความว่าการยุทธศาสตร์การตั้งชื่อในครั้งนี้ประสพความสำเร็จมากขึ้นเท่านั้น
ผู้คนจำนวนไม่น้อยรู้ดีว่าชื่อต่าง ๆ ที่ตั้งกันมานั้นหากมีการคิดใคร่ครวญและนำอดีต ปัจจุบันและอนาคตมารวมอยู่ด้วยกันแล้ว จะมีพลังและสามารถดึงดูดความสนใจของคนได้ไม่น้อยกว่าแรงดึงดูดอย่างอื่น ๆ ชื่อเป็นคำสั้น ๆ ที่เปรียบเสมือนสัญลักษณ์หรือตราของสินค้า (Logo) ซึ่งใช้สื่อสารระหว่างคนหรือกลุ่มคนที่ใช้เวลาสั้นแต่ทำให้คนเข้าใจเรื่องราวรายละเอียดอื่น ๆ ได้ด้วย และในบางครั้งยังก่อให้เกิดจินตนาการต่อเนื่องแบบไม่รู้จบอีกด้วย เช่น เราบอกว่าเจอผู้หญิงคนหนึ่งสวยเหมือนนางสาวไทย คนที่ฟังอยู่แม้ว่าไม่เคยเห็นผู้หญิงคนนั้นมาก่อนจะนึกภาพต่อได้ว่า ผู้หญิงคนที่ว่าจะมีรูปร่างหน้าตา ผิวพรรณ เป็นเช่นไร
ท่าย์น้ำข้ามภพ ชื่อนี้ย่อมมีที่มาและที่ไปอย่างแน่นอน ซึ่งต่อไปนี้ก็คือเรื่องที่ผมจะเล่าให้ท่านได้อ่านกันยามมีเวลาว่าง
            ครั้งแรกที่ผมคิดสร้างตลาดน้ำของท่ายางขึ้นมานั้น ก็มีปัจจัยประกอบหลายประการ โดยสิ่งแรกก็คือ ในอดีตประมาณปี พ.ศ.2514 – 2519 ครั้งผมยังเป็นเด็กและเพื่อน ๆ รวมทั้งอีกหลายคนของท่ายางคงจะมีความทรงจำที่ดีต่อแม่น้ำเพชรบุรีหลังบ้านผมเองที่ติดนัดล่างของท่ายาง ซึ่งหาดทรายสะอาดปราศจากขยะ น้ำใสไหลรินในหน้าแล้ง และหน้าน้ำหลากปีละเดือนถึงสองเดือนในหน้าฝนที่พัดพาขอนไม้และผักตบจำนวนมากไหลไปตามเส้นทางที่คดเคี้ยวของแม่น้ำเพชรบุรี ซึ่งความทรงจำตอนนั้นที่จำได้ดี คือหน้าแล้งพวกเราจะสนุกกับการจับปลาจับหอย ดำน้ำมุดขอนที่ติดขวางแม่น้ำอยู่สองแห่ง หน้าน้ำเราจะสนุกกับการเล่นห่วงยางในรถยนต์ลอยน้ำ หรือว่ายน้ำไล่จับกัน เกาะเรือที่ถ่อโดยกำนันแสงสมัยยังสาวที่รับส่งผู้คนข้ามฟาก รวมทั้งกระโดดสะพานไม้เดิมที่รื้อถอนไปแล้ว แล้วช่วงชีวิตของผมกับท่ายางก็หายไป 20 ปี กับการไปเป็นทหาร จนผมมีครอบครัวและพาลูกเมียกลับมาหาพ่อแม่หรือเที่ยวท่ายางบ่อยมากขึ้น ซึ่งมีเวลามานั่งคุยกับพ่อแม่ซึ่งก็ได้มุมมองอีกมุมหนึ่งจากแม่ที่เล่าเรื่องท่าน้ำข้างบ้านในอดีตก่อนผมเกิดว่าเป็นเส้นทางสัญจรของเรือนับร้อยลำ โดยเฉพาะหน้าน้ำจะมีเรือมาเทียบท่าเต็มไปหมด จนคนที่จะไปอาบน้ำซักผ้าแทบจะแทรกตัวระหว่างเรือลงถึงน้ำได้ยากเต็มที
ภาพของท่าน้ำข้างบ้านในอดีตที่ไม่นานของผมและของแม่สมัยยังสาวที่ไม่เหมือนกันอยู่แล้วกลับแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับท่าน้ำ ณ เวลาที่ผมนั่งฟังแม่เล่าเรื่องเก่าให้ฟัง ซึ่ง ณ วันเวลานั้นก่อนปี 2550 หากเดินลงไปในท่าน้ำก็จะพบกับแม่น้ำตื้นเขินที่มีแต่สาหร่าย วัชพืชและสวะ ขยะที่ลอยมาติดแทนที่ผืนทรายที่ถูกเรือดูดทรายดูดออกไปจนหมดเมื่อหลายปีก่อน ริมตลิ่งแม่น้ำก็มีแต่เศษสิ่งปฏิกูล วัตถุสิ่งของแตกหักชำรุดใช้การไม่ได้ ที่คนแอบนำมาทิ้งให้พ้นบ้านตนเองเททับถมไว้นับสิบปี และยังมีน้ำเน่า น้ำคลำจากบ้านเรือนที่ระบบระบายน้ำแตกเสียหายรั่วไหลเจิ่งนองเป็นที่เพาะพันธุ์ของแมลงวัน ยุง และกอต้นกก ต้นบอนขนาดใหญ่คลุมพื้นที่ลานหลังบ้านผมกว่าครึ่ง จนแทบจะเดินไม่ได้และไม่มีใครเข้าไปใกล้เพราะเกรงว่างูจะกัดเอา ภาพดังกล่าวคนท่ายางส่วนใหญ่มักไม่ทราบมากนัก เนื่องจากชื่อเสียงด้านความสกปรกดังกล่าวทำให้ไม่มีใครคิดแม้จะเดินผ่านหากไม่จำเป็น ผมเองช่วงที่พ่อเริ่มป่วยเดินไม่ได้เมื่อ พ.ย.50 ได้กลับบ้านถี่มากขึ้นเพื่อมาปรับปรุงบ้านให้เหมาะสมกับคนป่วย และปรับปรุงรอบ ๆ บ้านไปด้วยโดยได้จ้างช่างรับเหมาขุดดิน ปรับท่อน้ำเสีย ฝังเผาขยะ กำจัดหนอนที่สร้างอาณาจักรเป็นหมื่นเป็นแสนตัว และวัชพืช รวมทั้งทำความสะอาดบริเวณหลังบ้านให้หมดความสกปรกและความน่ากลัวโดยเหมาคนงานทำอยู่หลายวัน หมดเงินค่าของและค่าจ้างแรงงานหลายรอบรวมประมาณใกล้สองหมื่นบาท
การทำความสะอาดท่าน้ำหลังบ้านของผมแม้ว่าจะติดต่อกันนานนับปี แต่ท่านคงทายได้ว่าคงไม่ได้ผลอะไรมากนัก เพราะผมมาบ้านท่ายางได้เพียงบางเสาร์อาทิตย์เท่านั้น ซึ่งการเดินเก็บกวาดขยะหลังบ้านหลังจากวิ่งออกกำลังกายอยู่คนเดียวย่อมจะสู้จำนวนคนหลายสิบคนที่นำขยะมาทิ้งทุกวันไม่ได้อย่างแน่นอน จนปลายปี 2552 ต่อต้นปี 2553 ได้มีการพัฒนาพื้นที่ริมท่าน้ำใกล้กับข้างบ้านผมโดยการถางถางป่ากกและป่าอ้อที่ขึ้นเต็มไปหมดให้เป็นพื้นที่โล่งและถมดินให้เสมอใช้ประโยชน์สำหรับการนั่งเล่นพักผ่อนได้ โดยวันหนึ่งของเดือน ก.พ.53 ผมมาเยี่ยมบ้านและเดินลงไปดูว่าเขาทำอะไรกัน ก็พบกำนันปรีชากับลูกน้องกำลังกางแผ่นสแลนขึงครอบทำเป็นหลังคากับเสาไม้สน 4 ต้น ผมจึงถามว่ากำลังทำอะไรกันอยู่ กำนันตอบว่า กำลังทำศาลาง่าย ๆ ให้คนมานั่งพักผ่อน โดยกำนันออกเงินเองประมาณ 1,000 บาท
นับว่าเป็นเรื่องบังเอิญจริง ๆ ที่เมื่อปลายปีที่ผ่านมาพ่อผมมีจิตศรัทธาต้องการสร้างศาลาขนาดย่อม ๆ ที่วัดบ้านเกิดแทนศาลาไม้หลังคาสังกะสีของปู่ที่เคยสร้างไว้ให้พระ เณรใช้พักอาบน้ำเมื่อหกเจ็ดสิบปีก่อนที่รู้จักกันดีว่าศาลาแป๊ะคุ้ย โดยตั้งงบประมาณไว้ในใจว่าจะถวายให้ 200,000 บาท แต่หลังจากที่น้ำไปออกแบบกันเรียบร้อย ทางวัดได้เสนอแบบก่อสร้างศาลาชั้นดีที่สามารถทำอย่างอื่นได้ด้วย เช่น ให้นาคมาไหว้ก่อนบวช ซึ่งเข้าท่าดีแต่ราคาเหมาที่เสนอมาด้วยคือ 400,000 บาท ผมจึงบอกพ่อว่าเกินงบมากไปหน่อยแล้วก็ถอยมาก่อนโดยถวายเงินสดให้กับทางวัดไป 100,000 บาท ดังนั้น เมื่อมาเจอเรื่องที่กำนันจะสร้างศาลาริมน้ำ ความคิดการสร้างศาลาเพื่อประโยชน์ส่วนรวมก็เลยผุดกลับขึ้นมาใหม่อีกครั้ง
ผมก็เลยบอกกำนันว่าการพัฒนาพื้นที่ให้ยั่งยืนและได้รับความร่วมมือจากประชาชน เราต้องสร้างวัตถุถาวรที่ก่อให้เกิดความเชื่อมั่นและแรงบันดาลใจให้เกิดขึ้นกับประชาชน เมื่อเกิดขึ้นแล้วประชาชนจะเดินเข้ามาเอง ดังนั้น การสร้างที่กั้นแดดแบบไม่ถาวรนี้ คงอยู่ได้ไม่นานและไม่สวยงาม สร้างแล้วไม่นานก็เสียเปล่า แล้วผมก็เสนอว่า ครอบครัวทางพ่อแม่ผมจะสร้างศาลาถาวรให้หลังหนึ่งกว้างยาวประมาณด้านละ 4 เมตร โดยมีข้อแม้ว่าราคาต้องไม่แพงนักและกำนันต้องหาช่างมาทำและควบคุมการก่อสร้างให้เสร็จทันงานก่อพระเจดีย์ทราย หลังจากหายไปอาทิตย์หนึ่ง กำนันก็โทรแจ้งข่าวว่าได้ช่างรับเหมาสร้างศาลาแล้ว โดยราคาเหมาของและค่าแรงด้วยประมาณ 45,000 บาท ซึ่งผมได้ยินราคาดังกล่าวก็ตอบตกลงผ่านทางโทรศัพท์ทันที การก่อสร้างเริ่มประมาณกลางเดือน มี.ค.53 โดยกำนันคุมงานและผมให้ลูกพี่ลูกน้องถ่ายรูปส่งภาพความก้าวหน้าการก่อสร้างมาให้ผมดูผ่านทางโทรศัพท์ทุกวันเนื่องจากผมติดพันกับสถานการณ์ในกรุงเทพ ตรงนี้มีข้อดีที่ผมเห็นความก้าวหน้าติชมเปลี่ยนแปลงรูปแบบได้เป็นรายวัน แต่ข้อเสียที่เด่นชัดก็คือค่าก่อสร้างบานขึ้นเรื่อย ๆ ตามที่ผมเพิ่มและดัดแปลงการก่อสร้างตามที่ผมเห็นและข้อเสนอของกำนันที่อยากจะทำให้ดีตามความตั้งใจผม ซึ่งในท้ายที่สุดจากราคาเริ่มต้นที่ 45,000 บาท มาจบลงอยู่ที่ 150,000 บาท ซึ่งมากกว่าที่ตั้งไว้ 3 เท่า 
ศาลาได้นำมาใช้ประโยชน์ทันเวลาก่อพระเจดีย์ทรายของชุมชนศาลเจ้าท่ายางเมื่อ 16 เม.ย.53 โดยใช้เป็นที่สรงน้ำพระและวางพานพุ่มทอดผ้าป่าวัดท่าโล้ พ่อแม่ของผมยิ้มแย้มมีความสุขที่ได้รับเกียรติและคำชื่นชม รวมทั้งโล่ขอบคุณจากชุมชนที่ได้สร้างศาลาเพื่อประโยชน์ต่อคนท่ายาง แต่หลังจากวันนั้นแล้ว ทุกอย่างก็กลับไปเกือบเหมือนเดิม คือ การสะสมเพิ่มขึ้นของมูลสุนัข ขยะ  ต้นไม้ที่เริ่มรก ดินทลายจากน้ำฝนชะถนน คนมาค้าขายเดินมาแอบปลดทุกข์ริมน้ำตามสุมทุมพุ่มไม้ ถกกางเกงปล่อยของเสียตามร่องน้ำที่เริ่มเฉอะแฉะ และที่ต่างออกไปก็คือ เวลาดึก ๆ วัยรุ่นชายหญิงมานั่งกินเหล้ากินเบียร์ ทุบขวดเปล่าให้แตกแล้วขว้างลงพื้นและลงแม่น้ำ รวมทั้งทุบทำลายไฟฟ้าและฝ้าศาลา โดยไม่มีใครทำอะไรได้นอกจากการบ่นด่าคนทำซึ่งไม่รู้ว่าเป็นใครให้ผมฟัง
หนึ่งปีผ่านไปการก่อพระเจดีย์ทรายปี 2554 ใกล้จะจัดขึ้นอีกตามวงรอบ ผมเองหลังจากตัดสินใจทิ้งความก้าวหน้าในการเป็นทหารตั้งแต่เดือน ต.ค.53 มาดูแลพ่อแม่ ซึ่งหลังจากได้ปรับปรุงบ้านที่อยู่ปากซอยท่าน้ำประมาณ 3 เดือนได้ดั่งใจแล้ว ก็ได้คุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องเรื่องการทำให้ท่าน้ำเป็นสถานที่ที่มีชีวิต มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา หลังจากนั้นได้รับมอบหมายจากส่วนรวมให้เป็นประธานการก่อพระเจดีย์ทราบประเพณีร้อยปี ผมจึงได้ร่วมกันคิดและทุ่มเททำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในงานการก่อพระเจดีย์ทรายประจำปีที่ผ่านมาในทุกเรื่อง ตั้งแต่การตั้งชื่องาน การวางแผน การประสานงาน ความริเริ่มใหม่ การบริหาร การลงทุน การประชาสัมพันธ์ ฯลฯ ซึ่งมีสิ่งหนึ่งที่ผมผลักดันอยู่อย่างเงียบ ๆ ก็คือ การตั้งร้านขายของอาหารบริเวณพื้นที่การจัดงาน และการทำตลาดขายสินค้าบนถนนราษฎร์บำรุงในลักษณะตลาดโบราณผสมผสานกับตลาดเปิดท้ายที่มีการจัดทั่วไปตามอำเภอและจังหวัดต่าง ๆ โดยผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการและรับผิดชอบหลักคือ นายสกล ศุภลักษณ์เลิศกุล หรือเคิร์ก ซึ่งเคยจัดตลาดเปิดท้ายที่ข้างสวนสุขภาพชายคลองเมื่อหลายเดือนก่อน
คืนวันงานก่อพระเจดีย์ทราย ผมเดินขึ้นเดินลงบริเวณจัดงานและร้านค้า ร้านอาหารทั้งด้านล่างและด้านบนถนน รวมทั้งร้านขายข้าวหลามฝั่งยางหย่องที่ผมได้เชิญชวนให้กำนันแสงที่เคยรู้จักกันตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ตายายได้เชิญชวนชาวบ้านฝั่งยางหย่องที่มักประกอบอาชีพรับจ้างมาลองค้าขายกันดู ผมเดินดู เฝ้าสังเกตและประเมินผลในใจอยู่หลายรอบ ทางด้านร้านค้าบนถนนผมได้คุยกับเคิร์กซึ่งเป็นการรู้จักและคุยกันครั้งแรก เรื่องการขายของดีหรือไม่ดีของแม่ค้าและวิธีการรวบรวมแม่ค้าให้มาขาย ซึ่งฟังดูแล้วมันง่ายเหมือนปลอกกล้วยเข้าปากจริง ๆ แล้วผมก็พาครอบครัวเข้าบ้านนอน วันต่อมาหลังจากทำบุญกลางบ้านเสร็จผมขับรถพาครอบครัวกลับกรุงเทพ ระหว่างการเดินทางผมคุยกับภรรยาเรื่องการจัดงานที่ผ่านมา และสมองของผมก็เริ่มคำนวณและวิเคราะห์สิ่งที่ผ่านบริเวณท่าน้ำข้างบ้านไปด้วยกัน สมองผมย้อนภาพกลับไปในอดีต และจินตนาการทะลุไปในอนาคต บวกกับการนำคนที่ผมรู้จักในห้วงสองสามเดือนที่ผ่านมา ซึ่งต่างคนต่างบุคลิกและรูปแบบความเป็นมาอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นคุณวันทนา หรือทองม้วน แม่เล็ก กำนันแสง ยางหย่อง กำนันปรีชา และอีกสองสามคนที่ผมกล่าวมาแล้ว และก่อนที่ผมจะเดินทางถึงบ้านที่กรุงเทพสมองก็ประมวลผลเสร็จออกมาเป็นคำตอบที่ชัดเจนว่า ภาระหน้าที่ผมต้องทำต่อไปและเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือการสร้างตลาดน้ำที่ท่าน้ำข้างบ้านให้สำเร็จ
ผมใช้เวลาอีกสองวันเตรียมข้อมูลสรุปการจัดงานก่อพระเจดีย์ทรายประเพณีร้อยปี 54 และได้เขียนโครงการตลาดน้ำท่ายางต่อท้ายเข้าในท้ายเอกสารด้วย การประชุมกรรมการจัดงานก่อพระเจดีย์ทรายในเย็นวันที่ 20 เม.ย.54 เริ่มต้นด้วยความความสุขของกรรมการทุกฝ่ายที่การจัดงานก่อพระเจดีย์ทรายประสพความสำเร็จเป็นอย่างดี ความหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้งของทุกคน จากคำชมของชาวบ้านร้านตลาด และรายได้มากกว่ารายจ่ายกว่า 70,000 บาท แต่ความสุขเล็ก ๆ ดังกล่าวต้องสะดุดลงในตอนท้าย กรรมการทุกคนเงียบสนิทไม่มีความเห็นใด ๆ เมื่อทราบว่าผมมีโครงการจะจัดตลาดน้ำในเดือนต่อไปทุกต้นเดือนซึ่งครั้งแรกจะเปิดวันที่ 7 – 8 พ.ค.54 ซึ่งมีเวลาเตรียมตัวประมาณ 16 วัน (ต่อมาเลื่อนเป็น 14 – 15 พ.ค.54) และก่อนจะปิดการประชุมกรรมการท่านหนึ่งที่หายมึนจากการจู่โจมของผมเร็วกว่าเพื่อนได้ถามว่า แล้วเราจะตั้งชื่อตลาดน้ำเราว่าอะไรดีล่ะ ก่อนที่แต่ละคนจะทำหน้างง ๆ แล้วแยกย้ายกันกลับบ้าน
ผมมีเวลา 10 วันก่อนที่จะต้องนำเสนอชื่อตลาดให้กับที่ประชุมพิจารณาพร้อมแนวทาง  ซึ่งผมต้องนำส่วนประกอบต่าง ๆ มาผสมผสานและคิดคำที่จะเป็นชื่อของตลาดให้เป็นที่ยอมรับของทุกคนให้ได้ สิ่งแรกที่ผมใช้เป็นพื้นฐานหลักในการตั้งชื่อก็คือ ชื่อตลาดต้องฟังแล้วเกิดอิมแพค (Impact) หรือที่เรียกว่าโดนใจต่อคนที่ได้ยินชื่อครั้งแรก จากนั้นผมก็ค้นหาชื่อตลาดน้ำที่มีอยู่ในประเทศไทยหรือตลาดที่มีแนวทางเดียวกันทางอินเทอร์เน็ต ได้แก่ สามชุกตลาดร้อยปี ตลาดน้ำอัมพวา ตลาดน้ำอโยธยา  ตลาดน้ำสี่ภาค ถนนคนเดิน ตลาดโต้รุ่งหัวหิน ตลาดโก้งโค้ง ตลาดสองร้อยปีปราณบุรี ตลาดน้ำดำเนินสะดวก ตลาดน้ำท่าคา ตลาดน้ำคลองสระบัว ตลาดดอนหวาย ตลาดน้ำบางคล้า ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง ตลาดน้ำคลองลัดมะยม ตลาดน้ำคลองสวนร้อยปี ตลาดน้ำโบราณ ตลาดน้ำตลิ่งชัน ตลาดเก้าห้อง สวนศรี และเพลินวาน ซึ่งสรุปหลัก ๆ ก็คือการตั้งชื่อตลาดจะใช้ชื่อสถานที่นั้น ๆ เป็นหลักในการตั้งชื่อ แล้วต่อเติมคำให้ดูขลังหรือเก่าด้วยคำว่าโบราณ หรือร้อยปี ซึ่งผมเห็นว่ายังไม่โดนใจผม ผมเองมารู้สึกว่าที่ตลาดที่โดนใจผมเป็นชื่อสุดท้าย คือ เพลินวาน เพราะเมื่อสองปีก่อนที่ผมได้ยินคนพูดว่าไปเที่ยวเพลินวานครั้งแรก ผมเองฟังไม่ถนัดและเพี้ยนไปจากเดิมแล้วต้องถามกลับไปว่าอะไรนะ เพลิงวาง หรือวางเพลิง นี่มันอะไรกันแน่ หลังจากนั้นผมได้มาเปิดความเป็นมาในเวบไซท์ของเพลินวานและได้ไปเที่ยวเองมาสามสี่ครั้ง จึงเข้าใจที่มาของชื่อนี้และชื่นชมคนที่ตั้งชื่อนี้ ผมจึงใช้แนวทางการตั้งชื่อแบบเพลินวาน เป็นหลักการข้อที่ 2 โดยจะต้องชื่อไม่เกิน 2 พยางค์หรือถ้าจะเกินก็เกินไม่มากเพื่อให้จำง่ายไม่ผิดและมีนัยให้คนที่เห็นหรือได้ยินชื่อครั้งแรกเกิดความสงสัยใคร่รู้ อดถามไม่ได้และอธิบายแล้วก็ยังไม่เข้าใจจนต้องเดินทางมาดูด้วยตาตนเองสักครั้ง
จากนั้นผมก็นำสิ่งที่ผ่านมาในอดีตก็คือ ท่าน้ำก่อนที่ผมเกิดซึ่งแม่เล่าให้ฟัง กับท่าน้ำที่ผมรู้จักในช่วงชีวิตมาเป็นแนวทาง ซึ่งเวลาผมมองดูท่าน้ำจากบนดาดฟ้าบ้านยามเย็นและในบางครั้งก็ขี่รถเครื่องไปจอดยืนมองฝั่งบ้านท่ายางจากฝั่งยางหย่อง ในจินตนาการของผมจะมองเห็นภาพในอดีตที่ผมไม่เคยรู้จัก ซึ่งมีเรือและผู้คนมากมายกำลังสาละวนอยู่กับการทำมาหากินทั้งล่องเรือตามแม่น้ำ และข้ามฝั่งไปมาหากันอยู่ในแม่น้ำเพชร มารวมกับภาพที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นคือ ภาพลูกหลานของคนท่ายางในอนาคตและผู้คนจากที่อื่นมาพบปะทักทาย หรือเจรจาแลกเปลี่ยนสินค้ากันอย่างฉันท์มิตร ณ ที่แห่งเดียวกันนี้ จนปรากฏประโยคขึ้นในสมองของผมขึ้นมาเกี่ยวท่าน้ำว่า สถานที่ของท่ายางแห่งนี้เป็นสถานที่ที่คนซึ่งแตกต่างกันในทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นความคิด ความเชื่อ สภาพความเป็นอยู่ ในแต่ละชาติแต่ละภพได้ข้ามเวลาและมิติมาพบกันโดยเป็นความปรารถนาของลิขิตฟ้า  หลังจากนั้นผมก็ถอดเอาบางคำในประโยคนั้นมาเขียนลงในกระดาษหลายชื่อ เช่น ชะตาฟ้า ข้ามชาติ ข้ามพบ ฟ้าสั่ง น้ำฟ้า พบรัก ผ่านภพ และสุดท้ายก็มาลงที่คำว่า “ข้ามภพ” ว่าน่าจะเป็นคำที่อธิบายความหมายที่ผมคิดได้ทั้งหมด 
            หลังจากที่ได้คำว่า ข้ามภพ แล้ว ผมก็นำมาให้ทีมงานย่อยได้วิจารณ์ ซึ่งเมื่อฟังแล้วก็อึ้งกิมกี่กันไปตาม ๆ กัน และแม้ว่าด้วยความเกรงใจผม แต่สมาชิกบางคนก็อดถามไม่ได้ว่า แล้วใครมันจะรู้ว่านี่คือตลาดน้ำ ซึ่งผมก็บอกว่าชื่อเพลินวาน ก็ไม่ได้บอกเลยนะว่าเป็นตลาด แล้วเราก็ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการทำตลาดในสถานที่แห่งนี้เป็นลำดับแรก เราเพียงต้องการให้ตลาดช่วยในการดำรงอยู่ของสถานที่และเป็นส่วนหนึ่งที่จะดึงดูดคนบางกลุ่มเข้ามาในพื้นที่ เช่นเดียวกับ เราจะจัดสถานที่ให้สวยงาม มีกิจกรรมของครอบครัว การแสดงทางวัฒนธรรม และมีของจำหน่ายเป็นที่ระลึกบ้าง โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้คนท่ายางตอบคนต่างถิ่นได้ว่าท่ายางก็มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าเที่ยวและไม่เหมือนใครเช่นกัน ซึ่งน่าจะทำให้คนที่มาเที่ยวจำท่ายางได้ไปจนวันตาย
เมื่อผมตอบไปเช่นนั้น ทีมงานจึงบอกว่าคำสั้น ๆ แบบนั้น คงใช้ไม่ได้กับคนท่ายางเพราะเขาไม่เข้าใจด้วยน่าจะขยายความตามที่บอกอีกหน่อย ให้ครอบคลุมคำที่อธิบายมา คือหาคำที่เป็นเอกลักษณ์และภาคภูมิใจของคนท่ายางใส่ลงไปและทำให้พอรู้ว่าเรามีกิจกรรมที่เกี่ยวกับแม่น้ำเพชร ซึ่งแม้ว่าจะเป็นความเห็นที่แย้งกับขบวนการความคิดในการตั้งชื่อของผม แต่ด้วยเหตุผลที่มีน้ำหนักผมก็ไม่ขัดแย้ง และได้นำคำที่มีความหมายของตลาดริมน้ำเพชรบุรีในอำเภอท่ายางเข้าไปด้วย โดยได้กำหนดคำว่า ท่าย์ แทนคำว่าท่ายาง (ซึ่งดึงมาจากคำท้ายของ “ฅนรักษ์ท่าย์” ที่ได้ตั้งเป็นชื่อกลุ่มคนที่รักท่ายางเมื่อครั้งจัดงานก่อพระเจดีย์ทรายที่ผ่านมา) เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ ดังนั้น เมื่อทุกคนเห็นคำว่า ท่าย์ นั่นหมายถึงท่ายาง เพชรบุรี ที่เดียวเท่านั้น สำหรับการผิดหลักภาษาที่มีหลายคนทักมานั้น ผมใช้หลักการการตั้งชื่อเฉพาะเหมือนชื่อคนที่ไม่ต้องสะกดตามที่มีอยู่ในพจนานุกรม อีกทั้งแนวทางประเทศที่เจริญแล้ว เช่น ประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ การเกิดคำใหม่ ๆ ไม่จำเป็นต้องให้หน่วยงานรัฐเป็นคนคิด ประชาชนที่สร้าง คิด ประดิษฐ์ สิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมา สามารถกำหนดคำหรือชื่อขึ้นเองได้ หลังจากนั้นหากสาธารณชนยอมรับทางรัฐจะนำไปบันทึกในพจนานุกรม เช่นที่เราเห็นอยู่ปัจจุบัน ได้แก่ ไอโฟน ไอแพด ยาฮู กูเกิ้ล เป็นต้น และสำหรับคำว่า “น้ำ” นั้นใช้แทนความหมายของแม่น้ำเพชรบุรี โดยคำที่ทุกคนอยากจะให้ผมใส่เข้าไปแต่ผมยังไม่ยืนยันไม่ใส่เข้าไปคือคำว่าตลาด ซึ่งแม้ว่าจะเป็นคำที่คนทั่วไปเข้าใจได้ทันที ซึ่งผมเห็นด้วยบางส่วนและเชื่อว่าถ้าไม่มีตลาดสถานที่แห่งนี้ต้องไปไม่รอดแน่ แต่ผมยังเชื่อว่าในอนาคตการใช้ตลาดสำหรับสถานที่แห่งนี้น่าจะทำให้ด้อยค่าลง เพราะสถานที่แห่งนี้มิได้เพียงแต่นำของมาแลกเปลี่ยนกันเท่านั้น แต่ยังคลอบคลุมกิจกรรมสร้างสรรค์อื่น ๆ อีกมาก ไม่ว่าจะเป็น วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ กิจกรรมครอบครัว ผู้สูงอายุ วิธีชุมชน ศาสนา เป็นต้น ผมจึงไม่นำคำว่าตลาดใส่ลงไป
ซึ่งเมื่อได้ข้อสรุปดังกล่าวแล้วได้คำที่ไม่ต้องคิดมากไปกว่านี้ก็คือ คำว่า “ท่าย์น้ำ” แล้วมานำหน้าชื่อเริ่มแรกกลายเป็น “ท่าย์น้ำข้ามภพ” ซึ่งคล้องจองกันพอดี แล้วจึงได้นำไปเสนอในที่ประชุมกรรมการเมื่อ 30 เม.ย.54 โดยที่ประชุมมีข้อซักถามอยู่บ้างแต่ไม่มีใครคัดค้านชื่อ (เดาว่าจิตใจและความคิดของกรรมการแต่ละคนคงจดจ่ออยู่ในเรื่องที่ใหญ่กว่าคือ ตลาดมันจะเป็นไปได้หรือไปรอดไหมเนี่ย แต่คงไม่กล้าพูดให้เสียบรรยากาศการประชุม) ดังนั้น จึงทำให้คำว่า “ท่าย์น้ำข้ามภพ” ปรากฏขึ้นบนสากลพิภพ และทุกคนก็เริ่มต้นใช้คำนี้ เป็นธงชัยนำองคาพยพทั้งหมดของท่ายางไปสู่การสร้างตลาดริมน้ำแห่งแรกของเพชรบุรีตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
*************************************
บรรยายโดย พ.อ.เบญจพล รังษีภาณุรัตน์
เขียนครั้งแรก 15 มิ.ย.54 เพิ่มเติม 20 มิ.ย. 54

1 ความคิดเห็น:

  1. ฝากLink เรื่องบรรยากาศเก่าๆของท่ายางไว้ให้ดูที่นี่

    http://yeesarn.blogspot.com/2012/02/blog-post.html

    ตอบลบ