วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ข้อมูล “ท่าย์น้ำข้ามภพ”

1.     ท่าย์น้ำข้ามภพ “ตลาดริมน้ำแห่งความภาคภูมิใจของคนเพชร”
2. ท่าย์น้ำข้ามภพ เป็นสถานที่บริเวณสองฝั่งแม่น้ำริมแม่น้ำเพชรบุรีในพื้นที่ของอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งประชาชนของตำบลท่ายางและตำบลยางหย่องได้เสียสละ ร่วมมือกันสร้างและพัฒนาขึ้นเพื่อให้เป็นตลาดริมน้ำ โดยมีลักษณะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม อนุรักษ์ธรรมชาติ  และสถานที่พักผ่อนเพื่อการสันทนาการที่เหมาะทั้งครอบครัวและหนุ่มสาว
3.   ความหมายของคำประกอบ ท่าย์ หมายถึงท่ายาง น้ำหมายถึงแม่น้ำเพชรบุรี ท่าย์น้ำจึงหมายถึงสถานที่บริเวณริมแม่น้ำเพชรบุรีของอำเภอท่ายาง  ข้ามภพ หมายถึง จุดพบบรรจบกันอย่างลงตัวของความต่างทั้งในแง่มิติของเวลา สภาวะแวดล้อมทางกายภาพ รวมถึงความคิดความเชื่อของแต่ละบุคคลที่ไม่เหมือนกัน
4. วิสัยทัศน์ : ท่าย์น้ำข้ามภพ เป็นตลาดริมแม่น้ำเพชรบุรีสำหรับหนุ่มสาวและครอบครัว แหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรมและอนุรักษ์ธรรมชาติที่สร้างสรรค์และพัฒนาโดยประชาชนอย่างยั่งยืน
5.  ความเป็นมาก่อนการเป็นตลาดริมน้ำ
5.1 ในอดีตนับร้อยปี อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เป็นแหล่งชุมชนที่มีอารยธรรมรุ่งเรืองและความเจริญ ควบคู่กับความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำเพชรบุรี ซึ่งเป็นแม่น้ำที่มีความสำคัญของประเทศ  ไม่ว่าในแง่การใช้บริโภค การทำการเกษตร เส้นทางคมนาคม หรือการค้าขาย แต่หลังจากมีการพัฒนาและจัดสรรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ระบบประปาเจริญขึ้น และเส้นคมนาคมทางบกมาแทนที่เส้นทางสัญจรและการค้าทางน้ำ  แม่น้ำเพชรบุรีจึงด้อยคุณค่าลง และท่าน้ำของท่ายางที่เคยเป็นจุดศูนย์กลางการค้าขายได้กลายเป็นแหล่งเสื่อมโทรมและที่ทิ้งขยะสิ่งปฏิกูลนานนับสิบปี
5.2 พ.ศ. 2551 – 2554 ประชาชนของตำบลท่ายางและตำบลยางหย่อง ได้เล็งเห็นความสำคัญของประวัติศาสตร์ ธรรมชาติ เศรษฐกิจของอำเภอท่ายางและแม่น้ำเพชรบุรี และเชื่อมั่นว่ามีศักยภาพเพียงพอที่จะสร้างสรรค์สิ่งนั้นให้กลับมารุ่งเรืองได้ จึงได้ร่วมกันพัฒนาพื้นที่สองฝั่งของแม่น้ำเพชรบุรีที่ไหลผ่านตลาดท่ายางให้มีความใสสะอาดสวยงาม เมื่อพัฒนาขั้นต้นแล้วได้ใช้เป็นสถานที่จัดงานก่อพระเจดีย์ทรายประเพณีร้อยปีของชุมชน ซึ่งประสพความสำเร็จเป็นอย่างดี ผู้นำชุมชนจึงมีความเห็นร่วมว่าควรจะพัฒนาสถานที่แห่งนี้แบบยั่งยืน  ด้วยการจัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สร้างโดยประชาชน และเลี้ยงตัวเองได้  จึงกำหนดรูปแบบเป็นตลาดริมน้ำ ตั้งชื่อว่า ท่าย์น้ำข้ามภพ ซึ่งเปิดตัวเมื่อวันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยนายสุรชัย อังเกิดโชค รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีให้เกียรติเป็นประธาน ซึ่งผลการตอบรับจากนักท่องเที่ยวทั้งในและนอกพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีอยู่ในระดับดีถึงดีมาก
6.  วัตถุประสงค์การก่อตั้งท่าย์น้ำข้ามภพมี 4 ประการ คือ
6.1 เพื่อสร้างความภาคภูมิใจแก่ประชาชนท่ายางและเพชรบุรี เรื่องการมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และอนุรักษ์ธรรมชาติ อันจะเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมและองค์ความรู้ของจังหวัดเพชรบุรีได้เป็นอย่างดี
6.2   เพื่อปลุกจิตสำนึกของประชาชนให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของท่ายางในอดีต แล้วเกิดความรู้สึกร่วม ในการเสียสละ และร่วมมือพัฒนาให้เจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น รวมทั้ง สร้างความสุขให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนโดยรวม
6.3    เพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติของแม่น้ำเพชรบุรีอย่างยั่งยืน สามารถใช้เป็นแม่แบบให้แก่ชุมชนอื่นได้   และ
6.4    เพื่อสร้างงาน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและแก้ปัญหาสังคม อันจะนำมาซึ่งความเจริญและอยู่ดีกินดีของประชาชน
7.  กลุ่มเป้าหมาย นักท่องเที่ยวจากกรุงเทพ จังหวัดอื่น และนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยฝั่งท่ายางนักท่องเที่ยวจะชะลอตัวลงช่วงก่อสร้างกำแพงกันดินชายฝั่งและน้ำท่วมเดือนตุลาคม  หลังจากนั้นจะเริ่มเพิ่มสูงขึ้นอีกไปจนถึงเมษายน 2555
8.  เป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ว่าจะเกิดขึ้นภายใน  14 พ.ค.55
8.1      กิจกรรม 20 กิจกรรมต่อวัน
8.2      ร้านค้า 200 ร้านต่อวัน มีกำไรต่อ 500 บาท/คน/วัน
8.3      นักท่องเที่ยว วันละ 2,500 คนต่อวัน
8.4      ชาวท่ายางวันละ 500 คนต่อวัน
8.5      สร้างเครือข่ายท่องเที่ยวรัศมี 10 กม. 5 แห่ง
8.6      ค่าใช้จ่ายจากนักท่องเที่ยว 200 บาทต่อคน คิดเป็นเงินไหลเวียนวันละ 500,000 บาท
9. สถานที่ตั้ง : สวนริมน้ำ ฅนรักษ์ท่าย์ ริมแม่น้ำเพชรบุรี สุดซอยเทศบาล 10 และ 12 หมู่ 1 ต.ท่ายาง และฝั่งยางหย่อง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี   (พิกัด Lat 12° 58' 27.14" N Long 99° 53' 21.83" E )
10.  วันเวลาเปิดทำการ : ทุกวันเสาร์อาทิตย์
11.  ข้อมูลและรูปภาพเพิ่มเติม Facebook Page – ท่าย์น้ำข้ามภพ
12.  รูปแบบการดำเนินการ
12.1 การดำเนินการทั้งระบบเกิดจากประชาชนตำบลท่ายางและยางหย่องเป็นหลัก การก่อสร้างและพัฒนาขั้นต้นและวัตถุถาวรขนาดใหญ่ได้จากเงินบริจาคและจิตศรัทธาของประชาชน โดยหน่วยงานรัฐ/ท้องถิ่นให้การสนับสนุน  เพื่อให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนเชิงประวัติศาสตร์ อนุรักษ์ธรรมชาติและแม่น้ำเพชรบุรี และหารายได้จากตลาดริมน้ำเป็นค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา 
12.2 คณะกรรมการบริหารปัจจุบันเป็นคณะกรรมการชั่วคราว ซึ่งประกอบด้วย 4 ส่วนหลัก ได้แก่ คณะบริหารกลาง คณะบริหารจากชุมชนท่ายาง คณะบริหารจากยางหย่อง และคณะที่ปรึกษา โดยในส่วนของคณะบริหารกลางประกอบด้วย   นายปรีชา ผ่องใส กำนันตำบลท่ายาง นางวันทนา เก่งทอง ร้านทองม้วนแม่เล็ก นายสกล ศุภลักษณ์เลิศกุล ผู้จัดการบริษัทพีเค จำกัด นายประกิจ สุดเดือน ประธานชุมชนย่อยศาลเจ้าท่ายาง นางสาวแสงวรรณา อยู่แย้ม กำนันตำบลยางหย่อง และนายปราโมทย์ พุ่มทอง ประธานสภา อบต.ยางหย่อง มีหน้าที่ในการกำหนดยุทธศาสตร์การบริหารในภาพรวม ในส่วนของคณะบริหารจากชุมชนท่ายาง(ทุกชุมชนย่อยและอาจรวมไปถึงท่าคอย) คณะบริหารจากยางหย่อง จัดจากผู้แทนชุมชนของแต่ละฝั่งจำนวน 10 – 15 คนต่อคณะ มีหน้าที่กำหนดแนวทางการปฏิบัติหรือกลยุทธ์การจัดการกิจกรรม ร้านค้าและการบริหารของแต่ฝั่ง ในส่วนของคณะที่ปรึกษา จะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้คำแนะนำ สนับสนุน และประสานงานในเรื่องที่เหนือขีดความสามารถของกรรมการ โดยการทำงานของทั้ง 4 ส่วนจะมีการประสานสอดคล้องกันโดยการประสานงานของ พ.อ.เบญจพล รังษีภาณุรัตน์ คณะกรรมการบริหารชั่วคราวจะส่งมอบความรับผิดชอบให้แก่คณะกรรมการถาวรซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำร่างฯ ซึ่งคาดว่าจะไม่เกินเดือน ก.ย.54 หรือช้าที่สุดไม่เกิน 31 ธ.ค.54
13.  การบริหารการเงิน
13.1  ยืมเงินกองกลางจากกำไรก่อพระเจดีย์ทราย  คงค้าง 20,000 บาท และเงินสนับสนุนกึ่งบริจาคของกรรมการ
13.2   รายได้หลักจากเงินค่าเช่า และร้านค้าชุมชน ประมาณอาทิตย์ละ 12,000 บาท
13.3 รายจ่าย ค่าไฟฟ้า ค่าขยะ ประชาสัมพันธ์ อปพร. จราจร ตกแต่งสถานที่ ตัดหญ้า ซ่อมแซม ประมาณอาทิตย์ละ 10,000 บาท
13.4   มีการชี้แจงกรรมการทุกอาทิตย์ โดยมี น.ส.ณัฐญาภรณ์ กาญจนภูษิต หรือเจ๊เลี้ยง เป็นเหรัญญิก
13.5  ในส่วนของท่ายาง หากมีกำไรจะให้ชุมชนศาลเจ้าท่ายางและกำนันดูแล โดยเปิดบัญชีธนาคารออมสิน ใช้ 2 ใน 3 ชื่อในการเบิกเงิน
14.   ผู้ให้การสนับสนุน
14.1     จังหวัดเพชรบุรี (ผวจ.เพชรบุรี และ รอง ผวจ.เพชรบุรี (1, 2))
14.2     คุณบุญสม นุชนิยม ประธานอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบุรี
14.3     นายชัยยะ อังกินันท์ และองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบุรี
14.4     คุณนฤมล กิจพ่วงสุวรรณ และเทศบาลตำบลท่ายาง
14.5     นายสามารถ อินทร์ปรุง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอท่ายาง
14.6     นายศักดิ์สิทธิ์ วิบูลย์ศิลป์โสภณ นายกสมาคมสื่อมวลชนเพชรบุรี หนังสือพิมพ์เพชรภูมิ เพชรบุรีเคเบิลทีวี
14.7     ททท. สำนักงานเพชรบุรี
14.8     คณะวิทยาการการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี
15.   กิจกรรมของท่าย์น้ำข้ามภพเป็นกิจกรรมที่มุ่งเน้นนักท่องเที่ยวทั้งแบบครอบครัวและหนุ่มสาว
15.1   กิจกรรมเด่น ประกอบด้วย สะพานข้ามภพ นั่งเรือพายชมแม่น้ำเพชร นั่งแพไม้ไผ่ข้ามน้ำ การถ่ายภาพ
15.2 กิจกรรมครอบครัว/สันทนาการ ประกอบด้วย ทำบุญปล่อยปลา การเล่นน้ำ ขี่จักรยานเลียบแม่น้ำ สนามเด็กเล่น สวนพักผ่อน การร่วมร้องเพลง นวดแผนไทย ลีลาศ
15.3 กิจกรรมตลาดริมน้ำ ประกอบด้วย อาหารท้องถิ่น อาหารทั่วไป สินค้าที่ระลึก สินค้าการเกษตร ผักผลไม้ปลอดสารพิษ สินค้า OTOP
15.4 กิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรม  ประกอบด้วย การแสดงวัฒนธรรมท้องถิ่น การแสดงภาพเก่า การแสดงสิ่งของหัตถกรรม การแสดงของเก่า กิจกรรมของนักเรียน
16.  การดำเนินการในปัจจุบัน
16.1   การรักษาความปลอดภัยกิจกรรม
16.2   การเสริมสร้างความรู้ให้แม่ค้า
16.3   การเพิ่มกิจกรรมดึงดูดนักท่องเที่ยว การแสดงของนักเรียน
16.4   โครงการคืนหาดทรายให้แม่น้ำเพชร
16.5   การปรับปรุงภูมิทัศน์และสร้างห้องสุขา
16.6   ล่องเรือชมธรรมชาติและย้อนอดีตลำน้ำเพชร
16.7   การจัดตั้งคณะกรรมการบริหารถาวรที่มีความสามารถและจัดทำระเบียบที่เหมาะสม
16.8     การประสานกับหน่วยงานรัฐส่วนกลาง เช่น พาณิชย์จังหวัด กรมเจ้าท่า เพื่อขอรับการสนับสนุน
16.9     ส่งเสริมความรู้การบริหารและประสบการณ์ให้คณะกรรมการ
17. โครงการต่อไปในอนาคต
17.1   เพิ่มการจัดตลาดในวันหยุดนักขัตฤกษ์ เช่น ทอดกฐิน ปีใหม่ วันหยุดยาว วันประเพณีทางศาสนา
17.2   การสร้างมาตรฐานตลาดริมน้ำ และสุขวิทยาอนามัยที่ถูกต้อง
17.3     ทัศนาจรและไหว้พระ 10 วัด + 1 ท่าย์น้ำ (เริ่มเดินทางด้วยรถยนต์จากท่าย์ข้ามภพ 1.วัดเขาพรมชะแง้ 2.วัดตาลกง 3.วัดเขากระจิว 4.วัดชายนา 5.วัดท่ากระเทียม  ลงเรือล่องน้ำไป 6.วัดท่าคอย 7.วัดท่าโล้ ขึ้นรถต่อไป 8.วัดท่าเหว 9.วัดเขื่อนเพชร 10.วัดท่าขาม และสุดท้ายที่ท่าย์น้ำข้ามภพ ถ้าไม่ลงเรือเริ่มเดินทางด้วยรถยนต์จากท่าย์ข้ามภพ 1.วัดเขาพรมชะแง้ 2.วัดตาลกง 3.วัดเขากระจิว 4.วัดชายนา 5.วัดท่ากระเทียม  6.วัดท่าโล้ 7. วัดท่าเหว 8. วัดเขื่อนเพชร 9. วัดท่าขาม 10. วัดท่าคอย และสุดท้ายที่ท่าย์น้ำข้ามภพ )
17.4   จัดตั้งมูลนิธิท่าย์น้ำข้ามภพ
17.5   จัดตั้งกองทุนหรือธนาคารท่าย์น้ำข้ามภพ
17.6   จัดหาสถานที่ศูนย์ประสานงานท่าย์น้ำข้ามภพ
17.7   กางเต็นท์ โฮมเสตย์ เท็มเปิลสเตย์ รีสอร์ท ที่พัก
17.8   เชิญชวนลูกเกิดท่ายางกลับมาสร้างบ้านเกิด
17.9   มอบความรับผิดชอบทั้งหมดให้คณะกรรมการถาวรซึ่งเป็นที่ยอมรับของส่วนรวม
18.  สิ่งที่ต้องการจากคนท่ายาง
18.1    แรงใจและศรัทธาปรารถนาให้ท่ายางเจริญรุ่งเรือง
18.2   ช่วยกันสร้างบรรยากาศแห่งมิตรไมตรี
18.3   มีจิตใจในการต้อนรับนักท่องเที่ยว
18.4   พูดแต่เรื่องดี โดยปัญหาหากมีให้แก้กันภายใน
19. บทสรุป : ท่าย์น้ำข้ามภพ เปรียบเสมือนฝันที่เป็นความจริงของคนท่ายาง ที่อยากเห็นเพชรบุรีมีสถานที่ท่องเที่ยวแบบตลาดริมน้ำ เฉกเช่นจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งได้ผ่านขั้นตอนการทดสอบความมุ่งมั่นศรัทธามาแล้ว 7 ครั้ง  อย่างไรก็ตามสิ่งที่ยากยิ่งกว่าคือ การดำรงอยู่และพัฒนาให้ดีขึ้นจนกลายเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่คนไทยและต่างประเทศปรารถนาที่จะมาเยือน และเป็นความภาคภูมิใจของคนเพชรบุรีนั้น ย่อมจะต้องได้รับการสนับสนุนทั้งทางกำลังใจ กำลังความคิด และกำลังแรง จากทุกท่านและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผู้รับผิดชอบและผู้ที่สานงานต่อที่จะหมุนเวียนเข้ามารับหน้าที่หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านคงจะได้รับความเมตตา ให้การสนับสนุนและเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินงานของ ท่าย์น้ำข้ามภพ ให้คงอยู่อย่างพัฒนาถาวรและเป็น “ท่าย์น้ำของประชาชน” ตลอดไป
               
****************************************************

สรุปโดย พ.อ.เบญจพล รังษีภาณุรัตน์ เมื่อ 19 ก.ค. 54

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น